การรักษาโรคนอนกรนจากทางเดินหายใจติดขัดที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย (Obstructive Sleep Apnes; OSA) พบได้บ่อยในคนอ้วน โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีปัญหานอนกรนจากหลายสาเหตุได้ ดังนั้นการแก้ไขหรือรักษาจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนเป็นลำดับแรกแล้วจึงหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค วิธีการรักษาทำได้ทั้งไม่ผ่าตัดและผ่าตัด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า คนที่อ้วนมาก ๆ จะนอนกรนทุกคน แต่คนผอม ๆ ก็มีโอกาสนอนกรนได้เช่นกัน
ประเภทการนอนกรน
- การนอนกรนธรรมดา มีผลกระทบได้บ้างในระยะยาวต่อตัวผู้ป่วยเอง โดยอาจทำให้เส้นเลือดสมองที่คอซึ่งไปเลี้ยงสมองหนาตัวขึ้น นอกจากนั้นยังอาจมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน ทำให้นอนหลับยาก รวมทั้งอาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ
- การนอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) หลายคนคงเคยสังเกตเห็นคนที่นอนกรนจะมีช่วงที่กรนเสียงดังและค่อยสลับกันเป็นช่วง ๆ โดยจะกรนดังขึ้นเรื่อย ๆ หากสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่า ผู้ที่กรนจะหยุดหายกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นเองที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้น และเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจากการหยุดหายใจร่างกายจะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะทำให้การหลับของคนที่กรนนั้นถูกขัดขวางทำให้ตื่นขึ้น โดยจะมีอาการเหมือนสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง แล้วก็กลับมาเริ่มกรนใหม่ นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว ถ้าไม่รักษาอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ นอนหลับในขณะขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง
การตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab) เพื่อแยกว่าเป็นนอนกรนประเภทใดและสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีขึ้น
ใครบ้างควรตรวจ Sleep Lab
- ในผู้ใหญ่ Sleep Lab ควรตรวจเมื่อเกิดอาการ
- ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น
- ปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ
- รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้ง ๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย
- ง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวันจนไม่สามารถจะทำงานต่อได้หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน ขณะขับรถ ในห้องเรียน ในที่ประชุม ขณะอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ หรือดูโทรทัศน์
- นอนหลับไม่ราบรื่น นอนกระสับกระส่ายมาก
- หายใจขัดหรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
- สะดุ้งผวาหรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
- ความดันโลหิตสูง ซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
- ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ พัฒนาการทางสมอง สติปัญญา และความจำแย่ลง
- ตื่นนอนกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุหรือปัสสาวะกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุอื่น
- ในเด็ก Sleep Lab ควรตรวจเมื่อเกิดอาการ
- เด็กที่มีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือนอนคว่ำ
- เด็กที่ไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน (attention deficit disorder) หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่าง ๆ ทำตลอดเวลา
- เด็กที่ปัสสาวะราดในเวลากลางคืน
- เด็กที่ผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ พัฒนาการทางสมอง และสติปัญญา และความจำแย่ลง
- เด็กอายุขวบปีแรกที่สงสัยว่าเวลานอนหลับอาจมีช่วงหยุดหายใจ มีความผิดปกติของช่องปาก จมูก ลำคอ
- เด็กที่มีอาการนอนกรนหรือหายใจลำบากเวลานอน ด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ต่อมทอนซิล – อะดีนอยด์โต หลอดลมตีบแคบเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ