หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / เคล็ดลับสุขภาพ /
ไขข้อสงสัยทุกเรื่องกังวลใจการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

 

การผ่าข้อสะโพกเทียมทำให้เสี่ยงต่อการเดินไม่ได้จริงหรือไม่ 

ไม่จริง เพราะก่อนผ่าตัดคนไข้เดินไม่ได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทำให้คนไข้เดินได้ดีกว่าเดิม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ยิ่งการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ โอกาสที่จะเดินไม่ได้ค่อนข้างน้อยมาก เพราะกล้ามเนื้อทุกอย่างอยู่ที่เดิม การฟื้นตัวจึงดีขึ้น เจ็บปวดน้อย ต่างจากเมื่อก่อนที่อาจมีปัญหาจากการตัดกล้ามเนื้อออกเยอะ โอกาสฟื้นตัวช้า แต่ปัจจุบันไม่ตัดกล้ามเนื้อ แผลเล็กลง มีการวิจัยมากมายในทั่วโลกระบุว่า การผ่าตัดรูปแบบใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อยิ่งทำให้คนไข้เดินได้ดีขึ้น เดินได้เร็วขึ้น เดินได้ดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้นความเชื่อนี้น่าจะเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง


ผ่าตัดสะโพกเทียมเจ็บไหม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (DAA) ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดจะน้อยมาก ๆ เพราะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็น้อยลง พอบาดเจ็บน้อยลง ความเจ็บปวดก็น้อยลง นอกจากนี้เรายังมีเครื่องมือในการช่วยบล็อกเส้นประสาทเรียกว่า Fascia Iliaca Block (FICB) คือ การปล่อยยาชาเข้าไปตรงจุดที่ผ่าตัด ทำให้เส้นประสาทที่รับความรู้สึกชา ลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด ดังนั้นความเชื่อที่ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้วเจ็บ น่าจะเป็นความเชื่อในอดีต ปัจจุบันเรามีเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น มีการบล็อกเส้นประสาทที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นความเจ็บปวดจึงลดลงมาก


ผ่าตัดข้อสะโพกเทียมขาจะยาวไม่เท่ากันจริงหรือไม่

ความเชื่อที่ว่าหลังผ่าตัดข้อสะโพกเทียมขาจะสั้นยาวไม่เท่ากันเป็นความเชื่อในอดีต เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบดั้งเดิม มีการตัดกล้ามเนื้อ แผลอยู่ด้านข้างระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยต้องนอนตะแคงระหว่างผ่าตัด ส่งผลให้ศัลยแพทย์ประเมินความยาวของขาทั้งสองข้างได้ลำบาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (DAA) ที่ไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ ซ่อนแผลตามแนวบิกินี ระหว่างผ่าตัดผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ส่งผลให้ศัลยแพทย์ประเมินความยาวของขาทั้งสองข้างได้ถูกต้อง ใช้ส้นเท้าชนกัน จึงมั่นใจได้ว่าผ่าตัดแล้วขาเท่ากันแน่นอน นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยี X-ray ในห้องผ่าตัด Computer Navigation ช่วยระบุตำแหน่งข้อสะโพกเทียมได้ถูกต้อง เลือกขนาดและวัสดุของข้อเทียมได้เหมาะสม จึงมั่นใจได้ว่าความยาวขาทั้งสองข้างเท่ากันหลังผ่าตัด


ข้อสะโพกเทียมหลุดได้หรือไม่

การผ่าตัดในสมัยก่อนข้อสะโพกเทียมมีโอกาสหลุดออกมาได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ข้อสะโพกเทียมมีโอกาสหลุด ได้แก่ ข้อสะโพกเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง และกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกเทียมถูกตัด ทำให้กล้ามเนื้อไม่มั่นคง ข้อสะโพกเทียมมีโอกาสหลุดได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลว่าการผ่าตัดรูปแบบเก่าที่ผ่าตัดเข้าทางด้านหลังหรือด้านข้าง มีโอกาสทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดได้สูง ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (DAA) เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่อยู่รอบข้อสะโพกเทียมยังเป็นกล้ามเนื้อเดิมของผู้ป่วยทั้งหมด เพราะฉะนั้นความมั่นคงของข้อสะโพกเทียมสูงกว่า โอกาสข้อสะโพกเทียมหลุดจากการผ่าตัดเข้าทางด้านหน้าต่ำมาก จึงมั่นใจได้ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (DAA) ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้ไว ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ


ผ่าตัดข้อสะโพกเทียมทั้งสองข้างพร้อมกันทำได้หรือไม่

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมพร้อมกันทั้งสองข้างเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย มีข้อบ่งชี้การผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่มีหัวสะโพกตายทั้งสองข้าง ผู้ป่วยที่มีข้อสะโพกเสื่อมทั้งสองข้าง ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ประโยชน์มากจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมพร้อมกันทั้งสองข้าง เพราะฟื้นตัวได้ไวและดีกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทีละข้าง ไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัดทีละข้างที่ขายาวข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งที่ยังไม่ได้ผ่าขาก็ยังสั้นเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นถ้าผ่าตัดสะโพกเทียมทั้งสองข้างได้พร้อมกัน ผลที่ตามมาคือ หมดปัญหาขายาวไม่เท่ากัน ฟื้นตัวได้ไวและเดินได้ดีกว่าการผ่าทีละข้าง อีกทั้งประหยัดเวลา ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมพร้อมกันทั้งสองข้างสามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีข้อสะโพกเสื่อมทั้งสองข้างและหัวสะโพกตายทั้งสองข้าง โดยใช้การผ่าตัดแบบใหม่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว