หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เทคโนโลยีแก้ทุกปัญหาการนอน

รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันพบตัวเลขผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องนอนหลับไม่สนิท นอนกรนและหายใจผิดปกติ และภาวะง่วงในตอนกลางวันพบได้ 5.3% ในผู้ชาย และ 3.5% ในผู้หญิง ทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพของการนอนและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางระบบหลอดเลือดและหัวใจและโรคความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ และอุบัติเหตุ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาดังกล่าว

โรคลมชักไม่ไกลตัว

หลายคนอาจจะไม่รู้จักโรคลมชักเท่าไร แต่รู้ไหมว่าโรคนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากทีเดียว แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ พบได้ทุกเพศทุกวัย ในทวีปเอเชียพบผู้ป่วยเป็นโรคลมชักถึง 30 ล้านคน ส่วนในบ้านเราก็มีผู้ป่วยโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 700,000 คน

สาเหตุลมชัก

โรคลมชักเกิดได้หลายสาเหตุ ได้แก่

  • สมองมีพัฒนาการผิดปกติ เช่น หยักสมองผิดปกติ
  • พันธุกรรม ซึ่งจะเกิดตั้งแต่ยังเด็ก
  • การมีรอยโรคในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ เนื้องอกในสมอง แผลเป็นในสมองก็จะเกิดอาการชักได้

 

อาการลมชัก

ลักษณะอาการของโรค ได้แก่

  • ชักแบบเหม่อลอย
  • ชักแบบเกร็งกระตุก ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งขณะที่หลับและตื่น
  • ชักบ่อย ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางความคิด สติปัญญา ความจำลดลง

และที่น่าอันตรายยิ่งกว่าคือ โรคลมชักนั้นมักแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน และโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

 

รักษาลมชัก

วิธีการรักษาลมชัก ได้แก่

  1. ค้นหาจุดกำเนิดของการชักในสมองและหาสาเหตุของการชักนั้นเพื่อตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีกินยา ผ่าตัด หรือใช้ไฟฟ้ากระตุ้น โดยจะดูว่าคุณเป็นโรคลมชักชนิดไหน เพราะโรคลมชักมีหลายชนิด ซึ่งมีเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ทันสมัยเริ่มจากการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG-fMRI) โดยนำคนไข้เข้าไปอยู่ในเครื่องสแกนแล้วติดอุปกรณ์คลื่นไฟฟ้าสมอง เครื่องนี้จะสามารถบันทึกข้อมูลได้ว่าสมองทำงานอย่างไร เพื่อช่วยหาตำแหน่งของโรคได้ตรงตำแหน่งมากขึ้น
  2. การตรวจด้วยเครื่อง PET Scan เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจเซลล์สมองที่มีความผิดปกติ สามารถชี้ตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติได้อย่างตรงตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีห้อง EMU (EEG monitoring unit) โดยจะให้ผู้ป่วยมานอนตรวจโดยจะมีการบันทึกภาพวิดีโอและคลื่นไฟฟ้าสมอง ข้อมูลของผู้ป่วยไปฉายในมอนิเตอร์ที่ห้อง Control room ที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง  ถ้าคนไข้มีอาการชัก คอมพิวเตอร์จะส่งสัญญาณทันที นอกจากนี้คุณหมอสามารถล็อกอินเข้าไปดูอาการผู้ป่วยได้จากที่บ้านอีกด้วย
  3. ใช้วิธีการตรวจทางกัมมันตรังสี เรียกว่า Ictal SPECT เพื่อวินิจฉัยหาจุดกำเนิดของการชักให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น โดยฉีดสารเข้าไปขณะที่ผู้ป่วยมีอาการชัก ซึ่งสามารถฉีดยาให้คนไข้ได้ภายใน 30 – 60 วินาทีซึ่งถือว่ารวดเร็ว ทำให้ได้ข้อมูลหาจุดกำเนิดของการชักที่ถูกต้องและช่วยให้สามารถทำการรักษาได้เหมาะสม

โรคง่วงนอนผิดปกติ นอนเท่าไรก็ไม่พอ

โรคง่วงนอนผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • อดนอน
  • ภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ
  • โรคทางกายหรือทางใจ
  • ยา
  • ความผิดปกติทางระบบประสาทที่เรียกสั้น ๆ ว่าโรคลมหลับ (Narcolepsy)
  • ขาดสารสื่อสารในสมองตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวหลั่งเพื่อแยกการหลับและการตื่น คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหลับแทรกตื่นและตื่นแทรกหลับ เช่น นั่งคุยอยู่ดี ๆ พอมีอารมณ์ขำก็ฟุบไป อีกสักพักก็ลุกขึ้นมาคุยใหม่ บางรายมีอาการผีอำ นอนอยู่บนเตียงแล้วขยับตัวไม่ได้ ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะลุกได้ บางคนอาจมีอาการหูแว่ว ซึ่งโรคลมหลับนี้จะเกิดกับผู้ป่วยตั้งแต่อายุน้อย บางคนเป็นตั้งแต่เด็กจนโต โรคนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะคนไข้บางรายไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ แล้วเผอิญไปขับรถก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้จากการหลับใน

ค้นหาสาเหตุโรคง่วงนอนผิดปกติ

แพทย์เฉพาะทางจะให้ทำ Sleep Test  เป็นเวลา 1 วัน โดยเริ่มจากการทำ test กลางคืน ซึ่งให้คนไข้นอนเหมือนที่บ้านเพื่อตรวจหาความผิดปกติในขณะหลับ แล้วตามด้วย test กลางวันโดยจะให้คนไข้หลับทั้งหมด 5 งีบ แต่ละงีบห่างกัน 2 ชั่วโมง โดยให้นอนใน Sleep Lab จากนั้นก็ดูว่าหลังจากปิดไฟคนไข้เริ่มหลับภายในกี่นาที ถ้าน้อยกว่า 8 นาทีถือว่าเป็นโรคง่วงนอนผิดปกติ คนไข้บางรายสามารถหลับได้ภายใน 5 นาทีแถมยังมีฝันร่วมด้วย ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก

นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจด้วยเครื่อง Actigraphy ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ใช้จับวัดการเคลื่อนไหวโดยให้คนไข้สวมข้อมือเป็นเวลา 1 – 2 สัปดาห์ สามารถวัดความแรง ความถี่ ติดตามพฤติกรรมการหลับของคนไข้ที่บอกได้ว่า คนไข้นอนไปกี่ชั่วโมง มีการหลับต่อเนื่องหรือไม่ มีการหลับลึกเท่าไร ฝันเท่าไร สามารถบอกคุณภาพและประสิทธิภาพการนอน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและการรักษา

 

รักษาโรคง่วงนอนผิดปกติ

วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของความง่วงนอนมากผิดปกติ นอกจากการแก้ไขที่ต้นเหตุแล้ว ในคนไข้บางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นโรคลมหลับ แพทย์อาจจะให้กินยากระตุ้นตอนเช้า – กลางวัน เพื่อให้ตื่นตัว ประกอบกับการนอนเป็นพัก ๆ ในช่วงกลางวันจะช่วยให้แจ่มใสมากขึ้น ที่สำคัญคือโรคนี้ต้องการความเข้าใจจากคนรอบตัวเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นคุณแม่คนไหนที่เห็นลูกชอบงีบหรือขี้เซา ควรพามาตรวจเช็ก เพราะลูกคุณอาจจะไม่ได้เป็นเด็กขี้เกียจอย่างที่คิด แต่อาจจะเป็นโรคลมหลับก็ได้

 

กรนไม่ใช่เรื่องธรรมดา อาจเป็นโรคนอนกรนหยุดหายใจ   

ถ้าคิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องปกติ อยากให้คุณเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะถ้าเริ่มมีเสียงกรนเมื่อไร อาจจะเป็นสัญญาณว่าเป็นโรคนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยได้ เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการหายใจผิดปกติ ให้คนที่นอนข้าง ๆ ลองสังเกตว่า คุณมีอาการหายใจแผ่ว หยุดหายใจ หรือกรนร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าทางเดินหายใจของคุณเกิดการยุบตัวมากกว่าปกติจนตีบ แต่หากทางเดินหายใจตีบมากจนตัน เสียงกรนก็จะหายไป อาการถัดมาคือ คุณจะสะดุ้งเฮือก แล้วอาจหลับต่อได้หรือหลับต่อไม่ได้ หากหลับต่อและทางเดินหายใจตีบอีก เสียงกรนก็จะเกิดอีกครั้ง

การสะดุ้งเฮือกเกิดจากสมองตื่นตัวตอบสนองต่อภาวะหยุดหายใจ เพื่อให้กลับมาหายใจได้ หลายครั้งจะพบออกซิเจนในเลือดต่ำร่วมด้วยขณะหยุดหายใจหรือหายใจแผ่ว ด้วยการตื่นตัวของสมองดังกล่าวที่มักเกิดขึ้นบ่อยระหว่างหลับทำให้สมองไม่ได้พักเต็มที่ เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกเพลียเหมือนหลับไม่สนิท ถ้าคุณปล่อยอาการนี้ไว้นาน ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางกายหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แรงความดันโลหิตในปอดสูง และโรคหลอดเลือดในสมองตีบ ปวดศีรษะ ประสิทธิภาพเรื่องความคิดความจำสมาธิลดลง หรือแม้แต่สภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้มีโอกาสเกิดกับผู้ชายได้มากกว่า เนื่องจากผู้ชายมีฮอร์โมนแอนโดรเจน ทำให้ความสามารถในการคงตัวของทางเดินหายใจขณะหลับน้อย ส่วนคนที่น้ำหนักตัวเยอะหรืออ้วนจะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น เพราะด้วยเนื้อเยื่อบริเวณลำคอและไขมันที่สะสมทำให้ความกว้างของทางเดินหายใจช่องปากช่องคอส่วนต้นตีบแคบลง นอกจากนี้ ทุกช่วงอายุสามารถพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของใบหน้า ช่องคอ และการทำงานของทางเดินหายใจส่วนต้นที่ต่างกันในแต่ละคน

รักษาหยุดหายใจขณะหลับ

การรักษามีหลายวิธี ได้แก่

  1. การใช้ยา หากพบสาเหตุการหยุดหายใจจากการบวมของทางเดินหายใจในจมูกและคอ
  2. การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันบวกหรืออุปกรณ์เสริมเพื่อเปิดช่องคอและหรือช่องจมูก เครื่องจะสร้างแรงดันลมออกมาเพื่อถ่างขยายทางเดินหายใจไม่ให้ตีบขณะหลับ ปัญหาการหยุดหายใจหรือกรนขณะหลับก็จะลดลง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและมรประสิทธิภาพดี แต่ต้องมีการปรับแรงดันลมที่เหมาะสม ซึ่งแรงดันนี้ได้จากการตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาล
  3. การผ่าตัด  จะทำในกรณีที่โครงสร้างใบหน้าหรือในช่องจมูกช่องปากและช่องคอมีความผิดปกติ มีผลทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เช่น คนที่มีติ่งเนื้อขนาดใหญ่ในจมูก  ลิ้นไก่ยาว ลิ้นโต หรือในกรณีของเด็กเล็กที่มักจะมาด้วยปัญหาต่อมอดีนอยด์หรือต่อมทอนซิลใหญ่ ทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ การผ่าตัดรักษามีโอกาสช่วยให้หายได้