หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
เข่าฉิ่งอย่ามองข้ามรักษาได้

ภาวะเข่าฉิ่ง (Valgus Knee) อาจจะไม่คุ้นหู แต่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยจากหลายสาเหตุ โดยในวัยเด็กที่อาจพบได้เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปกติ (Normal Variation) ในช่วง 3 – 5 ปี หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้นก็มักจะกลับมาตรงปกติ แต่ในกรณีที่มีภาวะเข่าฉิ่งในผู้ใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเข่าในระยะยาวได้ หากมีความผิดปกติควรตรวจเช็กสุขภาพเข่าเพื่อวางแผนการรักษาโดยเร็ว


เข่าฉิ่งอย่ามองข้ามรักษาได้

ภาวะเข่าฉิ่งคืออะไร

ภาวะเข่าฉิ่ง (Valgus Knee) เป็นความผิดปกติของเข่า ซึ่งมีลักษณะที่สังเกตได้ชัดเจนคือ

  • เข่าเบนเข้าใน: ขาทั้งสองข้างจะเบนเข้าหากันที่บริเวณเข่า หรือ Knocked Knee
  • ปลายเท้าเบนออกนอก: ข้อเท้าทั้งสองข้างจะเบนออกไปทางด้านนอก ทำให้ขาทั้งสองข้างดูคล้ายกับตัว “X”

ทั้งนี้อาจพบผู้ป่วยที่มีลักษณะเข่าฉิ่งข้างหนึ่งและมีเข่าโก่งด้านตรงข้ามได้เรียกว่าWindswept Deformity


เข่าฉิ่งอย่ามองข้ามรักษาได้

รูปแบบความผิดปกติของภาวะเข่าฉิ่ง

ภาวะเข่าฉิ่งยังมีความหลากหลายทางสัณฐานวิทยา (Morphology) หรือรูปร่างภายนอก ได้แก่

  • การสูญเสียกระดูกหรือการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ของปุ่มกระดูกด้านนอกของกระดูกต้นขา (Lateral Femoral Condyle) หรือแผ่นรองกระดูกหน้าแข้งด้านนอก (Lateral Tibial Plateau)
  • เข่าเบนเข้าที่ระดับกระดูกบริเวณ Metaphysis (Valgus Angulations at Metaphyseal Level)
  • การเสียสมดุลของเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ เข่า โดยมีการตึงของโครงสร้างเข่าด้านนอก (Tight Lateral Structures) และ/หรือโครงสร้างเข่าด้านในที่หย่อน (Attenuated Medial Structures)

เข่าฉิ่งอาจทำให้กระดูกสะบ้าเบนออกจากศูนย์กลาง โดยอาจส่งผลให้เกิดแรงกดและความเจ็บปวดที่ด้านหน้าของเข่า รวมถึงการที่แนวแรงในกลุ่มคนไข้เข่าฉิ่งนั้นมักจะมากบริเวณที่ด้านนอกของเข่า (Lateral Side) ซึ่งมีโอกาสทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมได้


เข่าฉิ่งอย่ามองข้ามรักษาได้

สาเหตุของภาวะเข่าฉิ่งคืออะไร

ภาวะเข่าฉิ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • โรคข้อเข่าเสื่อมจากกระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมสภาพและสึกหรอ
  • การบาดเจ็บที่ข้อเข่า การบาดเจ็บซ้ำ ๆ หรือการบาดเจ็บรุนแรงที่ข้อเข่า หรือกระดูกที่สมานผิดรูปหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
  • น้ำหนักตัวเกิน
  • ความผิดปกติของกระดูกตั้งแต่กำเนิด
  • พันธุกรรม
  • ภาวะขาดวิตามินดี
  • ภาวะไตวาย
  • โรคข้ออักเสบ
  • ประวัติเคยมีการติดเชื้อในกระดูก
  • เนื้องอกกระดูก
  • ฯลฯ

เช็กภาวะเข่าฉิ่งได้อย่างไร

แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ทั้งลักษณะการปวดและการบาดเจ็บ ก่อนจะทำการตรวจข้อเข่าเพื่อประเมินสภาพข้อเข่าและให้คำแนะนำในการรักษา หากพบความผิดปกติแพทย์อาจทำการเอกซเรย์ข้อเข่าเพื่อพิจารณาภาวะเข่าฉิ่งอย่างละเอียดและดูความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนและโครงสร้างข้อเข่า


เข่าฉิ่งอย่ามองข้ามรักษาได้

วิธีการรักษาภาวะเข่าฉิ่ง

การรักษาภาวะเข่าฉิ่งทำได้หลายวิธี โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฝึกกายภาพ หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณารักษาด้วยยา แต่ในกรณีที่ไม่ได้ผลหรือมีภาวะเข่าฉิ่งที่รุนแรงส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้แนวกระดูกกลับมาตรงหรือทำการเปลี่ยนข้อเข่าเพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวกในระยะยาว ซึ่งการเลือกวิธีการรักษานั้นจำเพาะเฉพาะบุคคล


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาภาวะเข่าฉิ่ง

ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมให้การดูแลรักษาภาวะเข่าฉิ่ง โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการที่พร้อมให้คำปรึกษาและการรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพเข่าให้แข็งแรง กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาภาวะเข่าฉิ่ง

นพ.ภานุวัฒน์ ศิลาวัชนาไนย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และเปลี่ยนสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


แพ็กเกจตรวจสุขภาพเข่า

แพ็กเกจตรวจคัดกรองอาการปวดเข่าหรือข้อเข่าเสื่อม ราคา 2,800 บาท

คลิกที่นี่