หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ไมเกรนเกิดจากอะไรกันแน่

ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่มีความซับซ้อนและมีหลายปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาและงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ไมเกรนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่ผิดปกติในหลายส่วน


ปัจจัยที่ทำให้เกิดไมเกรนคืออะไร

ปัจจัยทางพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการทำให้สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เมื่อสมองได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อากาศเปลี่ยนฉับพลัน (ร้อน หนาว ฝนตก) แสงแดด เสียงดัง หรือปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ช่วงรอบเดือนที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การอดอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สมองทำงานผิดปกติและเกิดอาการไมเกรนได้


สมองส่วนไหนทำให้เกิดไมเกรน 

สมองส่วนสำคัญในการเกิดไมเกรนคือไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) จากการศึกษาพบว่า สมองส่วนไฮโปธาลามัสจะเกิดการทำงานผิดปกติได้นานถึง 48 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน อาการในระยะนี้จะเรียกว่าอาการนำของไมเกรน (Prodrome Symptoms) ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดตึงต้นคอ คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน สมาธิไม่ดี หาวนอนบ่อย ง่วง หรือมีความอยากอาหารบางชนิด


ไมเกรนเกิดจากอะไรกันแน่

ภาพแสดงการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัสในระยะก่อนเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

กระบวนการใดทำให้เกิดไมเกรน

กระบวนการที่ทำให้เกิดไมเกรนเริ่มต้นจากการส่งสัญญาณจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสมายังแกนสมอง และส่งต่อไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักที่มาเลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า เมื่อปลายประสาทนี้ถูกกระตุ้นจะเกิดการหลั่งสาร CGRP (Calcitonin Gene – Related Peptide) และ PACAP (Pituitary Adenylate Cyclase – Activating Polypeptide) ที่บริเวณปลายเส้นประสาทรอบ ๆ หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดการอักเสบและหลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัว รวมทั้งเกิดการส่งสัญญาณความปวดที่เพิ่มมากขึ้น

สัญญาณความปวดจากปลายประสาทสมองคู่ที่ 5 จะส่งกลับไปยังสมองส่วนรับรู้ความปวด ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น นอกจากนี้สัญญาณความปวดยังสามารถส่งไปบริเวณต้นคอผ่านเส้นประสาทที่คอส่วนบน ทำให้เกิดอาการปวดตึงต้นคอ อีกทั้งมีการกระจายของสัญญาณความปวดไปยังสมองส่วนอื่น ๆ ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติในสมองส่วนนั้น ๆ เช่น อาการแพ้แสง อาการแพ้เสียง ปัญหาคิดช้าหรือความจำไม่ดี เป็นต้น


ไมเกรนเกิดจากอะไรกันแน่

ภาพแสดงการหลั่งสาร CGRP and PACAP จากปลายประสาท Trigeminal ทำให้เกิดการอักเสบและเส้นเลือดขยายตัว รวมทั้งทำให้เกิดสัญญาณความปวด

การพบแพทย์เมื่อเป็นไมเกรนสำคัญแค่ไหน

ไมเกรนเป็นโรคที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก การเข้าใจถึงสาเหตุและการจัดการกับอาการไมเกรนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อควบคุมและลดการเกิดไมเกรนในชีวิตประจาวัน


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการรักษาไมเกรน

นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล  โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง 


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาไมเกรน

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมให้การดูแลรักษาไมเกรนด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงแพทย์สหสาขาที่มีความชำนาญและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในทุกวัน


Reference

  1. 1. Grangeon L, Lange KS, Waliszewska-Prosół M, et al. Genetics of migraine: where are we now? J Headache Pain. 2023;24(1):12. doi:10.1186/s10194-023-01547-8
  2. 2. Gollion C, De Icco R, Dodick DW, Ashina H. The premonitory phase of migraine is due to hypothalamic dysfunction: revisiting the evidence. J Headache Pain. 2022;23(1):158. doi:10.1186/s10194-022-01518-5
  3. 3. Noseda R, Jakubowski M, Kainz V, Borsook D, Burstein R. Cortical Projections of Functionally Identified Thalamic Trigeminovascular Neurons: Implications for Migraine Headache and Its Associated Symptoms. J Neurosci. 2011;31(40):14204-14217. doi:10.1523/JNEUROSCI.3285-11.2011
  4. 4. Schulte LH, Mehnert J, May A. Longitudinal Neuroimaging over 30 Days: Temporal Characteristics of Migraine. Annals of Neurology. 2020;87(4):646-651. doi:10.1002/ana.25697
  5. 5. Frimpong-Manson K, Ortiz YT, McMahon LR, Wilkerson JL. Advances in understanding migraine pathophysiology: a bench to bedside review of research insights and therapeutics. Front Mol Neurosci. 2024;17:1355281. doi:10.3389/fnmol.2024.1355281