หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
รับมืออย่างไรเมื่อข้อเท้าแพลง

รู้จักข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลง (ankle sprain) เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ข้อเท้าแพลงนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากอุบัติเหตุรอบตัว การออกกำลังกาย เป็นต้น

ตัวการข้อเท้าแพลง

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ข้อเท้าแพลงคือ

  1. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
    ปัจจุบันสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเท้าแพลงมาจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นส่วนใหญ่ เช่น ตกบันได ก้าวพลาด ตกส้นสูง เท้าพลิก  เป็นต้น
  1. อุบัติเหตุจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
    อาการเท้าแพลงที่เกิดขึ้นมากที่สุดมาจากการออกกำลังกาย โดยอาการเท้าแพลงที่เกิดขึ้นอาจมาจากการที่เอ็นและเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าฉีกขาด ทำให้ข้อเท้าไม่มั่นคง ซึ่งกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการเท้าแพลง เช่น วิ่ง หกล้ม  เล่นกีฬาข้อเท้าพลิก เป็นต้น
  1. อุบัติเหตุจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะกับขนาดเท้า
    สำหรับคุณผู้หญิงที่ใช้รองเท้าส้นสูงจะเพิ่มโอกาสเกิดข้อเท้าพลิกขณะสวมใส่ทำกิจกรรมได้

อาการข้อเท้าแพลง

ลักษณะอาการของข้อเท้าแพลงแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ได้แก่

ระดับที่ 1 : ปวด บวม กดแล้วเจ็บที่บริเวณเท้า

ระดับที่ 2 : เอ็นและเนื้อเยื่อรอบข้อเท้ามีการฉีกขาดบางส่วน ปวด บวมที่บริเวณเท้ามาก

ระดับที่ 3 : ระดับนี้รุนแรงที่สุด เอ็นที่บริเวณเท้ามีการฉีกขาดทั้งหมด เดินลงน้ำหนักไม่ได้

R.I.C.E หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อข้อเท้าแพลง

  1. R – Rest นั่งพักเพื่อสังเกตอาการจากข้อเท้าแพลงว่ารุนแรงไหม
  2. I – ICE ประคบเย็นเพื่อลดบวมและช่วยให้เลือดออกน้อยลง โดยประคบเย็นประมาณ 15 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ข้อห้ามคือไม่ควรประคบร้อนหรือนวดบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บในระยะแรกเพราะจะทำให้บวมมากยิ่งขึ้น
  3. C – Compression ใช้ผ้าพันบริเวณที่บวมและพยายามไม่เคลื่อนไหวถ้าไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ปวดในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
  4. E – Evaluation ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดบวมและลดความเจ็บปวด

รักษาข้อเท้าแพลง

เมื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ โดยแนวทางการรักษาทางการแพทย์มีดังนี้

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวด
  2. พิจารณาตรวจทางรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก
  3. โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษา 6 – 8 สัปดาห์ แต่ภาวะข้อเท้าบวมจะหายก่อน
  4. พักเท้าให้มากที่สุด อาจจะใส่เฝือกหรือใช้ผ้าพัน และอาจจะใช้ไม้เท้าช่วยพยุงน้ำหนัก
  5. การประคบน้ำแข็งให้กระทำทันทีที่ได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบได้มาก
  6. ใช้ผ้าพันหรือใส่เฝือกเพื่อลดอาการบวม
  7. ยกเท้าสูงเพื่อลดอาการบวม

ผลกระทบเมื่อข้อเท้าแพลง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อข้อเท้าแพลงคือ  มีโอกาสเท้าพลิกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป มีอาการปวดข้อเท้าหรือกระดูกข้อเท้าเรื้อรัง ทั้งนี้เมื่อเกิดอาการเท้าแพลงควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรอดูอาการถ้าไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ทันที