หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ถาม - ตอบก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ภาวะกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร

หมอนรองกระดูกจะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุประมาณ 25 ปี และเสื่อมมากขึ้นตามอายุ นอกจากนี้น้ำหนักตัวที่มาก การทำงานที่ต้องรับแรงกระแทก ก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก และผู้ที่สูบบุหรี่จัดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก

จริงหรือที่คนแข็งแรงทั่วไปอาจตรวจพบว่ามีกระดูกหรือหมอนรองกระดูกเสื่อม

กระดูกและหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มีงานวิจัยที่นำนักกีฬาที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ มาตรวจถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI พบว่า หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมถึง 23%  และในคนที่อายุเกิน 60 ปีจะตรวจพบหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้มากถึง 90%* ดังนั้นจึงไม่ควรวิตกกังวลเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคกระดูกสันหลังเสื่อมในร่างกาย

* Ref : Lowrence Js. Disc degeneration : its frequency in Relationship to symptoms.Annals Rheum Dis 1969;28;121 – 37.

นอกจากโรคกระดูกสันหลังเสื่อมมีโรคใดบ้างเกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

โรคอื่น ๆ ที่อาจพบได้และเป็นสาเหตุให้ต้องเข้ารับการผ่าตัด อาทิ โรคเนื้องอกของกระดูกสันหลัง การติดเชื้อในกระดูกสันหลัง การหักยุบจากโรคกระดูกพรุน การคด หรือผิดรูปของกระดูกสันหลัง เป็นต้น

จะทราบได้อย่างไรว่าต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ข้อบ่งชี้ที่บอกว่าผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจประกอบด้วยข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  • ผู้ป่วยเป็นผู้ขอเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากไม่อาจทนความเจ็บปวดได้
  • มีอาการแสดงของการทำลายเส้นประสาท เช่น กล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • การควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป
  • เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาวิธีต่าง ๆ แล้วอย่างเต็มที่ 6 – 8 สัปดาห์ แต่อาการยังไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ไม่ผ่าตัดได้หรือไม่ มีวิธีอื่นที่ไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่

แพทย์มักแนะนำให้รักษาโดยวิธีอื่น ๆ อาทิ การทำกายภาพบำบัด การรักษาแบบอินเตอร์เวนชั่น (intervention spine treatment) ก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มโรคกระดูกสันหลังเสื่อม หรือโรคทางกระดูกสันหลังที่ไม่ร้ายแรงนัก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดโดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของการรักษาแต่ละวิธีให้ผลแตกต่างกัน เมื่อการดำเนินโรคถึงที่สุดแล้ว การรักษาโดยการผ่าตัดถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพสูงวิธีหนึ่งและเป็นมาตรฐานที่ต่างประเทศให้การยอมรับ

ผ่าตัดแบบแผลเล็กได้หรือไม่

การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีวิธีแตกต่างกันมากมายหลายวิธี การผ่าตัดแบบแผลเล็กเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการผ่าตัดทั้งหมด ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ นิยมเลือกแนวทางการผ่าตัดขนาดแผลเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลสำเร็จ ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด

การผ่าตัดผ่านกล้องดีกว่าไม่ใช้แบบผ่านกล้องหรือไม่

การผ่าตัดผ่านกล้องเป็นเพียงหนึ่งวิธีในการขยายภาพขณะผ่าตัด เพื่อให้การผ่าตัดได้ผลดี ศัลยแพทย์มองเห็นภาพได้ชัดเจนในขณะผ่าตัด อย่างไรก็ตามการผ่าตัดบางประเภทไม่มีความจำเป็นต้องใช้กล้อง อาทิ การผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคด เป็นต้น กล้องที่ใช้ในการผ่าตัดมีหลายแบบ อาทิ กล้องแบบเอนโดสโคป กล้องแบบไมโครสโคป หรือแม้แต่แว่นขยายที่ติดอยู่ที่แว่นตาก็ทำให้ศัลยแพทย์มองผ่านภาพกำลังขยายได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามผลการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่การใช้กล้องหรือไม่เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการแก้ไขพยาธิสภาพได้เพียงพอเป็นหลักสำคัญ

การผ่าตัดใช้เวลานานเท่าไร

การผ่าตัดโดยทั่วไปจะใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง แต่หากเป็นการผ่าตัดที่ต้องใส่โลหะหรือทำผ่าตัดในหลายระดับ จะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง และอาจใช้เวลามากกว่านั้นสำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนของโรคสูง

คนสูงอายุสามารถผ่าตัดได้หรือไม่

ผู้ป่วยสูงอายุสามารถผ่าตัดได้  แต่จำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดจากอายุรแพทย์ เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม และการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น การทำงานของหัวใจ ไต และปอด เป็นต้น หากตรวจพบว่าแข็งแรงพอแพทย์จะอนุญาตให้เข้ารับการผ่าตัด

หลังผ่าตัดต้องอยู่โรงพยาบาลกี่วัน

โดยทั่วไปหากเป็นการผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยอาจพักในโรงพยาบาล  1 – 2 วัน ส่วนการผ่าตัดหลายระดับ ผู้ป่วยอาจต้องพักในโรงพยาบาล 3 – 5 วัน แต่หากผู้ป่วยมีความแข็งแรงของร่างกายน้อย หรือเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอื่น ๆ การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้า ๆ หรือจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง อาจต้องพักในโรงพยาบาล 7 – 10 วัน หรือมากกว่า

ผ่าตัดแล้วจะหายดีหรือไม่

ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ มีความพึงพอใจต่อผลการผ่าตัด อย่างไรก็ตามผลการผ่าตัดจะหายดีหรือไม่มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ

  • ธรรมชาติและความรุนแรงของโรค โรคทางกระดูกสันหลังบางประเภทสามารถหายได้สนิท เช่น โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
    แต่บางประเภทอาจหวังผลเพียงแค่ดีขึ้น เช่น โรคเนื้องอกของกระดูกสันหลัง เป็นต้น
  • ระยะเวลาที่เป็นโรคก่อนมารักษา หากเส้นประสาทถูกทำลาย หรือกดเบียดมาเป็นเวลานาน อาจได้ผลดีไม่เท่าผู้ป่วยซึ่งมีอาการเป็นมาได้ไม่นาน
  • เทคนิควิธีที่เลือกใช้ หากเลือกใช้เทคนิควิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้สูง โดยได้รับความเสี่ยงน้อย
    ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ให้ความรู้ในวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับท่าน
  • ความชำนาญของแพทย์ แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างแท้จริง  มีประสบการณ์มาก สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
  • การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ความร่วมมือจากผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสริม ปัจจัยเสี่ยงต่อโรค
    หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ผิดท่า และการยกของหนัก รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเป็นต้น

ผ่าตัดอย่างไรจะประสบความสำเร็จ

อุบัติการณ์ที่ผู้ป่วยรับการผ่าตัดแล้วไม่หายพบได้ในทุกโรงพยาบาลทั่วโลก ซึ่งจะลดอุบัติการณ์ดังกล่าวได้โดย

  • การเลือกผ่าตัดโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลังอย่างแท้จริง
  • การเลือกเทคนิควิธีผ่าตัดได้ถูกต้อง
  • สถานที่ต้องมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์การรักษาและมีทีมแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

การผ่าตัดเสียเลือดมากหรือไม่

การผ่าตัดโดยทั่วไปจะเสียเลือดไม่มากนัก และไม่จำเป็นต้องให้เลือดทดแทน แต่ในกรณีที่ต้องมีการตัดกระดูกจำนวนมาก หรือมีการผ่าตัดในหลาย ๆ ระดับ ปริมาณการเสียเลือดจะมากขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและจะได้รับสารน้ำหรือเลือดทดแทน

แผลผ่าตัดยาวเท่าไร

แผลผ่าตัดจะยาวมากน้อยขึ้นกับจำนวนระดับและเทคนิควิธีที่เลือกใช้ ตลอดจนความหนาของชั้นไขมันใต้ผิวหนัง โดยทั่วไปการผ่าตัด 1 ระดับจะมีแผลยาวประมาณ 2 – 7 ซม. การผ่าตัด 2 ระดับอาจมีแผลยาวประมาณ 10 – 12 ซม. ทั้งนี้แผลจะเล็กลงหากสามารถใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กในผู้ป่วยคนนั้น ๆ ได้

แผลผ่าตัดเจ็บมากหรือไม่

ธรรมชาติของการปวดแผลมักจะมีอาการปวดในช่วง 1 – 3 วันแรกหลังการผ่าตัด ความเจ็บปวดจะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของการผ่าตัดและขนาดแผล อย่างไรก็ตามผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการให้ยาระงับปวด ทั้งในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดเสร็จ เพื่อลดความรู้สึกปวดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยวิสัญญีแพทย์จะเข้ามาร่วมดูแลเรื่องการระงับปวดอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่พักฟื้นในโรงพยาบาล นอกจากนี้มีระบบการให้ยาระงับปวดเข้าเส้นเลือดตลอดเวลาที่ควบคุมด้วยผู้ป่วยเอง (PCA, Patient Controlled Analgesia) ซึ่งได้ผลดีมากในการระงับปวดหลังการผ่าตัดและเป็นมาตรฐานสากล

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดทางกระดูกสันหลังมีอะไรบ้าง

เช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไปที่อาจเกิดผลข้างเคียงได้ในหลาย ๆ ระบบ ดังนี้

  • ผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ อาจมีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ  มึนงง  ปวดศีรษะ
  • ผลข้างเคียงจากระบบการไหลเวียนเลือด เช่น ความดันโลหิตไม่คงที่ การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในระหว่างการรักษา  เช่น การแพ้ยา
  • ผลข้างเคียงในระบบทางเดินหายใจ เช่น มีเสมหะคั่งในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อ หรือปอดบวม
  • การติดเชื้อในบริเวณแผลผ่าตัด
  • เสียเลือดมากหรือมีเลือดคั่ง
  • ผลข้างเคียงจากโลหะหรือสิ่งเทียมอวัยวะ ที่ใส่ในร่างกาย  มีการเคลื่อนคลอน หรือมีการแตกหัก
  • ผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อและเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การเชื่อมข้อไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้มีอาการปวดและอาจต้องรับการผ่าตัดซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การเลือกผ่าตัดโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย มีทีมแพทย์คอยดูแลและรักษาตามมาตรฐาน พร้อมทั้งการได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โอกาสเกิดปัญหาเหล่านี้มีน้อยที่สุด การรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ในทุกวันนี้ล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการผ่าตัดโรคทางกระดูกสันหลัง ในปัจจุบันมีความเสี่ยง หรือผลแทรกซ้อนน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางหลากหลายสาขาร่วมกันดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดผลข้างเคียงต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน ในการผ่าตัดโรคทางกระดูกสันหลังต่ำกว่าในอดีตมากจนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

โลหะที่ใช้ดามกระดูกสันหลังมีกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับคำแนะนำให้ใส่โลหะดามกระดูกสันหลัง ซึ่งหากแบ่งตามประเทศผู้ผลิต จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โลหะที่ผลิตจากต่างประเทศและผลิตในประเทศ หากแบ่งตามวัสดุที่นำมาผลิต จะแบ่งเป็นโลหะประเภทสแตนเลสตีลและโลหะไททาเนียม ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า โลหะไททาเนียมมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าโลหะสเตนเลสตีล  ในปัจจุบันแพทย์จึงมักนิยมใช้โลหะไททาเนียมเนื่องจากแข็งแรงกว่า และสามารถตรวจด้วยเครื่อง MRI อีกครั้งได้ การเลือกใช้สกรูเพื่อยึดตรึงกระดูกสันหลังนั้น แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบเพื่อพิจารณาร่วมกันในการเลือกใช้ให้เหมาะสม สกรูโลหะทำหน้าที่ยึดตรึงกระดูกสันหลังให้มั่นคงเพื่อรอให้ร่างกายสร้างเสริมการเชื่อมข้อแบบถาวร ปกติการเชื่อมข้อโดยไม่ใส่โลหะมีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 – 70 แต่เมื่อใส่วัสดุยึดตรึงกระดูกแล้วมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเชื่อมข้อสูงขึ้นเป็น 90 – 100%

ผลแทรกซ้อนของการใส่โลหะดามกระดูกสันหลังอาจเกิดอะไรได้บ้าง 

  • โลหะอยู่ผิดตำแหน่ง ทำให้กดเบียดเส้นประสาท และเนื้อเยื่อใกล้เคียง
  • โลหะเคลื่อนหรือคลอน หลุดจากตำแหน่งที่ใส่ไว้หลังการผ่าตัดไประยะหนึ่ง
  • โลหะแตกหัก หลังจากใช้มาเป็นเวลานานและการเชื่อมข้อไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ O-ARM สร้างภาพสามมิติขณะผ่าตัดพร้อมระบบนำวิถี Stealth Navigation System จะช่วยให้หลีกเลี่ยงอุบัติการณ์ของการใส่โลหะผิดตำแหน่งได้และมีผลแทรกซ้อนต่อเส้นประสาทลดลง

การใส่โลหะนาน ๆ จะมีปัญหาหรือไม่   โลหะมีอายุใช้งานนานเพียงใด  ต้องเอาออกหรือไม่ หากไม่เอาออก โลหะจะเป็นสนิมหรือไม่

โลหะที่จะใส่ในร่างกายต้องผ่านการศึกษาทดลองแล้วว่าสามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิตโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย

การใส่สกรูโลหะอยู่ในร่างกาย เวลาอากาศเย็นจะเป็นอย่างไร

อาจเคยได้ยินว่าหลังผ่าตัดจะรู้สึกเย็นเมื่อใส่โลหะในร่างกาย โดยเฉพาะในเวลาอากาศเย็น อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาแล้วว่าการใส่โลหะในร่างกายจะไม่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติใดในเรื่องอุณหภูมิของร่างกาย

การเตรียมจิตใจก่อนผ่าตัด

  • ต้องมีจิตใจยอมรับ มีความเข้าใจในโรคที่เป็นอยู่ ควรทราบทางเลือกของการรักษา ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • ควรทราบรายละเอียดขั้นตอนการผ่าตัด สิ่งที่จะพบทั้งก่อนและหลังผ่าตัดอย่างครบถ้วน เมื่อแพทย์หรือพยาบาลบอก หรือขอให้ทำสิ่งใด
    ก็จะมีความพร้อมที่จะร่วมมือ
  • ท่านอาจจะถูกถามชื่อ – นามสกุลซ้ำ ๆ จากเจ้าหน้าที่หลายครั้ง เพื่อเป็นมาตรฐานการบ่งชี้ผู้ป่วยที่ดีก่อนทำหัตถการ  เช่น การเจาะเลือด
    การให้เลือดหรือสารน้ำ การทำหมายก่อนผ่าตัด   เป็นต้น
  •  มอบความไว้วางใจให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่พยาบาลปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ  เนื่องจากแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน
    ได้รับการฝึกอบรมมาให้ดูแลผู้ป่วยประดุจญาติมิตร
  •  ท่านอาจได้รับการกระตุ้นให้ยืนหรือเดินทั้ง ๆ ที่ยังมีอาการปวดมากอยู่  ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
    ที่อาจเกิดขึ้น
  •  ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับความพึงพอใจและได้ผลดี กรณีเป็นโรคที่มีความซับซ้อน คนไข้ผ่านการผ่าตัดแล้วมาแก้ไขอีกครั้ง
    หรือเป็นเรื้อรังมานาน มีพยาธิสภาพที่มาก หรือเส้นประสาทมีพยาธิสภาพที่ถาวร  การผ่าตัดก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้

เตรียมร่างกายอย่างไรก่อนผ่าตัด

  • ควรนอนหลับให้เต็มที่ก่อนผ่าตัด งดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาโรงพยาบาล
  • ควรต้องมีญาติที่สามารถดูแลผู้ป่วยและประสานกับเจ้าหน้าที่ได้คอยดูแล
  • นำยาเดิมที่รับประทานมาด้วยทุกครั้ง และหากท่านมีอาการแพ้ยาใดต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทราบ
  • ไม่ควรนำของมีค่ามาโรงพยาบาล  ขณะเข้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ออก
  • ใส่เสื้อผ้ารองเท้าหลวม ๆ  สวมและถอดง่าย
  • ทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ตัดเล็บ เช็ดยาทาเล็บออก
  • เว้นการแต่งหน้า ติดกิ๊บ หรือใส่คอนแทคเลนส์  และต้องถอดฟันปลอมฝากญาติไว้ ผู้ป่วยที่มีฟันโยกควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยทุกครั้ง

ต้องงดน้ำ และอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อยกี่ชั่วโมง

6 – 8 ชั่วโมง

ยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่องจนถึงเช้าวันผ่าตัด ได้แก่

  • ยาลดความดันโลหิตสูง
  • ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ
  • ยาขยายหลอดลม เป็นต้น

ยาที่ต้องงดก่อนผ่าตัด ได้แก่

  • ยารักษาโรคเบาหวาน ควรงดเช้าวันผ่าตัด
  • ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดทุกชนิด เช่น แอสไพริน , Plavix , Coumadin , Heparin เป็นต้น ตลอดจนยาสมุนไพร เมล็ดแปะก๊วย
    และโสมต้องงดก่อนรับการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน

ทำไมต้องพบแพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดก่อนการผ่าตัด

  • การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด โดยเฉพาะการฝึกขยายปอดให้ถูกต้อง ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  • ลักษณะท่าทางและกิจกรรมการใช้หลังที่ถูกต้องเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังในทุก ๆ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนในชีวิตประจำวันและการทำงาน
  • การใส่อุปกรณ์พยุงหลังที่เหมาะสมในแต่ละคน หรือฝึกใช้อุปกรณ์ช่วยเดินต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งการดูแลรักษาอุปกรณ์เหล่านั้น

เพื่อลด

  • อาการปวดที่เกิดขึ้นจากพยาธิสภาพของกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ด้วยเทคนิค วิธีการ และเครื่องมือทางกายภาพบำบัด

เพื่อเพิ่ม

  • ความสมดุลด้านความแข็งแรง ความทนทาน และความยืดหยุ่นกับกล้ามเนื้อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและต่อเนื่อง

สิ่งที่ควรทราบเมื่อเสร็จการผ่าตัด

  • ผู้ป่วยจะตื่นจากการทำผ่าตัดพร้อมมีสายต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น สายจากการให้น้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ สายระบายเลือดจากแผลผ่าตัด
    และสายที่ทำการบันทึกสัญญาณชีพจากอวัยวะต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยจะถูกตรวจประเมินระบบประสาททันทีหลังจากที่เริ่มตื่น เช่น ขอให้ทำการกระดกข้อเท้า กระดกนิ้วโป้งเท้า
  • สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องอยู่ ICU หลังการผ่าตัดจะถูกย้ายไปอยู่ที่ห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการประมาณ 1 – 2 ชม.
  • สำหรับผู้ป่วยที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด อาทิ ผู้ป่วยสูงอายุ จะได้รับคำแนะนำให้พักที่ห้องอภิบาลใกล้ชิด (ICU) 1 วันก่อนย้ายไปห้องพัก
    ผู้ป่วยปกติ
  • ในการผ่าตัดทางกระดูกสันหลังบางเทคนิควิธีอาจจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ผู้ป่วยทั่วไปจะได้รับอนุญาตให้รับประทาน
    อาหารอ่อนได้ใน 24 ชั่วโมง
  • เมื่อมีการปวดแผลผ่าตัด ควรแจ้งพยาบาลเพื่อรับยาระงับปวด อาการปวดจะลดลงอย่างมากเมื่อผ่านไป 2 – 3 วัน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาสลบและใส่ท่อช่วยหายใจอาจมีอาการเจ็บคอ ปากแห้ง หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดได้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง หรือฉีดยาชาบริเวณเส้นประสาท ยาชาอาจยังไม่หมดฤทธิ์ทันที ควรระมัดระวังการกระแทกหรือโดน
    ของร้อนจัด เย็นจัดบริเวณที่ยังชาอยู่
  • หลังผ่าตัดหากปัสสาวะไม่ออกให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาล ซึ่งอาจจำเป็นต้องสวนปัสสาวะทิ้งเป็นการชั่วคราว

วันหลังผ่าตัดจะลุกขึ้นเดินได้เลยหรือไม่

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะลุกยืนและฝึกเดินในวันที่  2 หรือ 3 พร้อมกับการถอดสายสวนปัสสาวะ และสายระบายเลือดออก อย่างไรก็ตามแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป

เมื่อไรแผลจะถูกน้ำได้

แผลจะถูกน้ำได้เมื่อแผลหายสนิทดี อาจใช้เวลาประมาณ 10 – 14 วัน แพทย์จะพิจารณาจากแผลและแจ้งให้ทราบอีกครั้งก่อนกลับบ้าน

ทำไมบางคนแผลหายช้า

การหายของแผลขึ้นกับขนาด ความลึก ตำแหน่ง ตลอดจนการไหลเวียนโลหิตในบริเวณแผล  นอกจากนี้ความแข็งแรงของผู้ป่วย อายุ และภาวะทางโภชนาการโรคประจำตัวบางอย่างจะมีผลทำให้แผลหายช้า เช่น โรคเบาหวาน

ต้องตัดไหมหรือไม่

ขึ้นกับชนิดของไหมที่ศัลยแพทย์ได้เย็บไว้ ซึ่งมีทั้งชนิดไหมละลายและไหมไม่ละลาย โดยแพทย์จะแจ้งให้ท่านทราบทั่วไปจะตัดไหมหลังผ่าตัด 10 – 14 วัน ยกเว้นถ้าเย็บด้วยไหมละลายในชั้นใต้ผิวหนังก็ไม่ต้องตัดไหม

จะต้องกลับมาพบแพทย์ครั้งแรกหลังจากออกจากโรงพยาบาลกี่วัน

ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปจะประมาณ 7 – 10 วัน

หากแผลหายไม่ปกติจะมีอาการอย่างไร

หากแผลมีอาการปวดไม่ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป บวม แดงร้อน หรือมีไข้  หรืออาจมีสารคัดหลั่งออกมาจากแผล ปวดหลังมากผิดปกติ ควรรีบกลับมาพบแพทย์

หลังผ่าตัดต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลัง (Brace) นานเท่าไร

การผ่าตัดกระดูกสันหลังบางชนิดอาจจะจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลัง ซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับคำแนะนำให้ใส่ไว้ 1 – 2 เดือนหรือตามแพทย์สั่ง

ต้องพักฟื้นกี่วันจึงกลับไปทำงานได้

ผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกสบายขึ้นมากใน  2 – 3 สัปดาห์  และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ในบางรายอาจต้องใช้เวลา 4 – 8 สัปดาห์ กว่าที่จะสามารถไปทำงานได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย ลักษณะของงานที่ทำ และชนิดของการผ่าตัด

กิจกรรมในช่วงแรกหลังจากกลับบ้าน สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอวทั่วไป

สัปดาห์แรก

  • เดินในบริเวณบ้านทุกวันบ่อยเท่าที่จะทำได้ เพิ่มระยะทาง และเวลาขึ้นวันละน้อย โดยไม่ลืมสวมอุปกรณ์พยุงหลังหรือคอ (Brace) และใช้ไม้เท้า
  • ไม่ควรนั่งนานเกิน 20 นาที
  • ขึ้นลงบันได ต้องเกาะราวบันไดเสมอ
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
  • ดูแลแผลตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

สัปดาห์ที่ 2

  • ทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น เดินได้บ่อยขึ้น แต่ยังคงต้องพักสม่ำเสมอ เมื่อรู้สึกเมื่อยหรือเพลีย
  • ยกของได้บ้างที่หนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
  • ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวเร็วไม่มีอาการปวดแล้วจะสามารถขับรถระยะทางใกล้ ๆ ได้
  • แพทย์อาจนัดให้กลับมาพบเพื่อตรวจประเมินหลังผ่าตัด

สัปดาห์ที่ 3

  • ฝึกเดินพร้อมเพิ่มระยะทางและเวลาเดินให้มากขึ้น
  • ทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้
  • ยกของหนักได้ไม่เกิน 5 กิโลกรัม
  • ผู้ป่วยที่อายุไม่มาก ร่างกายฟื้นตัวเร็ว อาจไม่ต้องใช้ไม้เท้าในการเดิน สวมอุปกรณ์พยุงตามคำแนะนำของแพทย์

สัปดาห์ที่ 4

  • การเดินจะทำได้มากขึ้นและไกลขึ้น
  • อาจเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ทำงานบ้านได้เพิ่มขึ้น
  • สามารถขับรถได้ไกลขึ้น
  • สามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า ใช้อุปกรณ์พยุงหลัง หรือคอ ตามที่แพทย์แนะนำ

ในเดือนที่ 2 และ 3 หลังผ่าตัด สามารถเพิ่มกิจกรรมได้ เช่น ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ และออกกำลังกายที่ไม่หักโหม อย่างไรก็ตามอาการตึงหลังอาจยังคงมีอยู่ไปจนระยะเวลา 3 – 5 เดือนจึงค่อยดีขึ้น คำแนะนำนี้สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดบางประเภทมีคำแนะนำที่แตกต่างกว่านี้ โดยศัลยแพทย์จะประเมินจากสภาพโดยรวมของผู้ป่วย และชนิดของการผ่าตัดเป็นราย ๆไป ให้ยึดถือปฏิบัติตามที่แพทย์ผู้ผ่าตัดแนะนำเป็นหลัก แพทย์จะนัดกลับมาตรวจประเมินเป็นระยะ ๆ จึงควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

กิจกรรมที่ควรทำและควรเว้นหลังผ่าตัด

กิจกรรมที่ต้องเว้น

  • กิจกรรมที่ต้องก้มตัวสุดหรือแอ่นหลังสุดเป็นประจำ
  • ก้มหลังยกของ ก้มหลังเก็บของให้ใช้วิธีย่อเข่าแทน
  • ควรเว้นการยกของหนักมากเกินกำลัง
  • ไม่ควรอยู่ในที่ซึ่งมีการสั่นสะเทือน
  • ไม่นั่งนาน ๆ โดยเฉพาะในที่นั่งซึ่งอ่อนนุ่มจนทำให้หลังโค้งงอ หากงานที่ทำจำเป็นต้องนั่งตลอดทั้งวัน  ควรหาโอกาสเดินเปลี่ยนอิริยาบถ
    ทุก 1 ชั่วโมง

กิจกรรมที่ควรทำ

  • เดินออกกำลังกาย โดยเพิ่มระยะการเดินขึ้นในแต่ละวัน
  • สวมรองเท้าที่มีส้นนุ่มรองรับการกระแทกเมื่อเดินหรือออกกำลังกาย
  • เมื่อแผลหายดีแล้วแต่ยังมีอาการหลังตึงให้ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ เพื่อยึดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

ขับรถทางไกลได้หรือไม่

สามารถขับรถได้เมื่ออาการปวดของท่านทุเลาลง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะขับรถได้หลังผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ และจะสามารถขับรถได้ไกลขึ้นเมื่อผ่านไป 2 – 3 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถต่อเนื่องระยะทางยาว หากจำเป็นต้องพักร่างกายควรเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ๆ ทุก 1 – 2 ชั่วโมง

นั่งรถเดินทางไกลควรทำอย่างไร

เมื่อต้องนั่งรถเดินทางไกล  ควรปรับพนักพิงให้เอียงลงมากกว่าปกติ เพื่อ ถ่ายน้ำหนักไปยังแผ่นหลัง และพักเปลี่ยนท่าทางเป็นระยะ

ทำไมต้องเลือกผ่าตัดที่โรงพยาบาลกรุงเทพ

สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ  ประกอบด้วยทีมแพทย์ซึ่งเป็นผู้ชำนาญเฉพาะทางหลากหลายสาขาของกระดูกสันหลังแต่ละส่วนโดยเฉพาะ หากผู้ป่วยมีความซับซ้อนของโรคสูง ทีมแพทย์จะร่วมประชุมปรึกษา และวางแผนการรักษาอย่างรอบคอบให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือช่วยในการผ่าตัดทางกระดูกสันหลังที่มีคุณภาพเทียบเท่าการผ่าตัดที่ต่างประเทศ จึงเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยจากต่างประเทศนิยมเข้ามารับการรักษาที่สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพเพิ่มมากขึ้นทุกปี