หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
สังเกตพฤติกรรมเด็ก สแกนข้อสะโพกหลุด

เด็กน้อยที่เริ่มจะคืบ คลาน หรือเดิน พ่อแม่ควรลองสังเกตว่ามีพฤติกรรมคลานด้วยขาข้างใดข้างหนึ่งหรือเปล่า หรือเวลาเดินแล้วขาทั้งสองข้างยาวไม่เท่ากัน หรือขาข้างใดข้างหนึ่งหมุนได้มากผิดปกติ เพราะถ้าหากมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งควรต้องไปปรึกษาแพทย์ เพราะลูกอาจเสี่ยงเป็นโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดได้

ต้นเหตุข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด

โรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดพบได้ 1 ใน 1000 ของเด็กแรกเกิด และมีโอกาสเป็นพร้อมกันทั้งสองข้างสูงถึง 20% สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค มีทั้งสาเหตุจากกรรมพันธุ์และเชื้อชาติ ซึ่งพบว่าชนชาติบางชาติพบเด็กเกิดใหม่เป็นโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดมากกว่าชนชาติอื่น ๆ เช่น อินเดียนแดง ญี่ปุ่น เป็นต้น และไม่ค่อยพบในคนจีน คนผิวสี

นอกจากนี้ยังพบสาเหตุจากสภาพแวดล้อมในครรภ์หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดข้อสะโพกเคลื่อนได้ง่าย เช่น ท้องแรกเป็นเด็กผู้หญิง คลอดในท่าก้น และมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน โดยอธิบายว่ามดลูกและช่องคลอดของแม่ยังขยายตัวไม่มากนัก อาจบีบรัดตัวลูกน้อย เด็กคลอดแบบไม่กลับตัว (คลอดท่าก้น) เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน คุณแม่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ลูกตัวใหญ่น้ำหนักตัวมาก แต่แม่ตัวเล็ก การห่อตัวทารกแรกเกิดแน่นจนเกินไป และเด็กที่มีเท้าหรือคอเกร็งผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยงข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด

การห่อตัวลูก การมัดลูกกับอู่ และท่านอนของลูก  มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเบ้าสะโพกอย่างมาก พบว่า ชนเผ่าอินเดียนแดงและชนเผ่าไอนุของญี่ปุ่น ห่อลำตัวส่วนขาของลูกอย่างแน่นหนาในท่าเหยียดตรง ทำให้ขาของลูกขยับไม่ได้ ซึ่งท่าเหยียดตรงเป็นท่าที่เอื้ออำนวยให้ข้อสะโพกหลุดออกจากเบ้า

ในทางกลับกันพบว่า ในประเทศจีนที่มัดลูกไว้กับหลังและสะโพกกางออก พบอุบัติการณ์ของโรคข้อสะโพกเคลื่อนน้อยมาก เพราะท่าที่สะโพกกางออกจะช่วยให้หัวสะโพกกลับเข้าสู่เบ้าและมีพัฒนาการของข้อจนเป็นปกติ ในบ้านเราที่อุ้มลูกไว้ข้างเอวก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ข้อสะโพกเข้าที่ในเบ้าสะโพกได้ดีกว่า

รักษาข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด

วิธีรักษาโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดมีหลายวิธีตามระดับความรุนแรงของโรคและอายุของลูก

  • แรกเกิด – 6 เดือน หากตรวจพบในระยะนี้ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการใช้สายรัด (Pavlik Harness) ที่ดึงให้ขาทารกน้อยอยู่ในท่ากบ หรือไฟเบอร์กลาสที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่า เพื่อจัดให้หัวกระดูกสะโพกเข้าสวมในเบ้าตามปกติและมีพัฒนาของข้ออย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งจะใส่ไว้ตลอดเวลา ระยะที่ใส่ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของทารกแต่ละคน
  • 6 เดือนขึ้นไป หากการรักษาระดับแรกไม่สำเร็จ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการดึงข้อสะโพกเข้าที่ ภายในห้องผ่าตัด ตามด้วยการใส่เฝือกแข็ง (Hip Spica Cast) โดยใช้เอกซเรย์ CT หรือ CAT SCAN หรือ MRI เพื่อสังเกตอาการควบคู่ไป
  • 1 ปีขึ้นไป ในระยะนี้จะได้รับการผ่าตัดใหญ่ เพื่อปรับแต่งและจัดให้กระดูกสะโพกเข้าเบ้า อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดเพื่อตกแต่งกระดูกพร้อมใส่แผ่นเหล็กดามไว้ ซึ่งหลังการผ่าตัดต้องใส่เฝือกแข็งหลายเดือน และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • 14 ปีขึ้นไป – วัยผู้ใหญ่ที่ข้อสะโพกยังไม่เสื่อม มีการรักษาด้วยการผ่าตัดที่กระดูกเบ้าสะโพกหรือกระดูกต้นขา เพื่อให้ศูนย์กลางของข้อสะโพกเข้าที่และมีพื้นที่รับน้ำหนักมากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอความเสื่อมของข้อสะโพกออกไปให้นานที่สุด
  • วัยกลางคนที่ข้อสะโพกเสื่อมจนถึงระยะสุดท้ายแล้ว รักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม

ข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด โตขึ้นจะกลับมาเดินได้ปกติหรือไม่ หลุดซ้ำได้หรือไม่ ส่งผลตอนโตอย่างไร

หากรักษาข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดได้ถูกต้อง เด็กจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ข้อสะโพกมั่นคงแข็งแรงไม่หลุดอีก แต่เด็กที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาได้ไม่เต็มที่จะยังมีปัญหาขาสั้นยาวกะเผลกและเกิดอาการข้อสะโพกเสื่อม เจ็บเดินลงน้ำหนักไม่ได้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ป้องกันข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด

  • เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ลูกคนแรก เด็กผู้หญิง คลอดท่าก้น น้ำเดินก่อนคลอด กุมารแพทย์จะทำการตรวจสะโพกเป็นพิเศษ อาจมีการตรวจอัลตราซาวนด์สะโพก หรือถ่ายภาพเอกซเรย์
  • ไม่มัดห่อตัวลูกแน่นเกินไป ให้คุณหมอหรือพยาบาลสอนการห่อตัวลูกที่ถูกต้อง ซึ่งขาจะงอได้และเคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ใช่การห่อแบบมัดแน่น
  • ให้ลูกนอนคว่ำหรือนอนหงาย ไม่นอนตะแคงจนสะโพกหุบ
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติที่ขาของลูก รอยพับที่ผิวหนัง ขาที่สั้นยาว ขาที่ชี้ออกไม่เท่ากัน ท่าเดินที่ผิดปกติ กะเผลกแต่ไม่เจ็บ
  • การรักษาตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะได้ผลดีกว่าอายุมาก ซึ่งเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าทั่วไป ควรให้แพทย์ตรวจที่สะโพกเพื่อดูว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ให้พาลูกมาพบคุณหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป
  • คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตเนื้อตัว แขน ขาของลูกว่ามีความผิดปกติอะไรอยู่บ้าง อย่าคิดว่าเล็กน้อย คิดไปเองว่าเป็นไม่มาก เพราะลูกยังเล็กมีพัฒนาการไปจนผิดปกติและพิการตอนโตขึ้นได

โรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดรู้เร็วรักษาหายเร็ว หายเป็นปกติได้ แต่ถ้ารู้ช้า ลูกอาจจะต้องเดินกะเผลก ขาสั้นไปข้างหนึ่งหรืออาจทั้งสองข้าง พออายุมากขึ้นจะเกิดอาการข้อสะโพกเสื่อม