หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
อุบัติเหตุ หกล้ม กระแทก เสี่ยงกระดูกไหปลาร้าหัก

รู้จักกระดูกไหปลาร้า

กระดูกไหปลาร้า คือ กระดูกส่วนที่เชื่อมต่อกระดูกหน้าอกส่วนบนไปยังกระดูกหัวไหล่ และเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระดูกหัวไหล่ กระดูกไหปลาร้าเป็นกระดูกแบบยาว ทำหน้าที่เสมือนไม้ค้ำประคองแขนไว้ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวแขนได้อย่างเป็นอิสระ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการป้องกันหลอดเลือดและเส้นประสาทจากบริเวณส่วนคอที่ไปยังรักแร้ ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย

ต้นเหตุกระดูกไหปลาร้าหัก

กระดูกไหปลาร้าหักเป็นตำแหน่งกระดูกหักที่พบได้บ่อย เนื่องจากง่ายต่อการบาดเจ็บจากการรับแรงกระแทกที่ผ่านมาจากแขนสู่ลำตัว โดยการหักอาจเกิดจากแรงกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้า หรือแรงกระแทกทางอ้อมจากไหล่หรือแขน เช่น หกล้มในท่าแขนเหยียดออกกระแทกพื้น หรือหกล้มไหล่กระแทกพื้น เป็นต้น

อุบัติเหตุ หกล้ม กระแทก เสี่ยงกระดูกไหปลาร้าหัก

การตรวจวินิจฉัย

แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยกระดูกไหปลาร้าหักได้จากการตรวจร่างกายที่จะเห็นการผิดรูป ปวด บวมของบริเวณกระดูกไหปลาร้าหลังได้รับบาดเจ็บ และสามารถยืนยันการวินิจฉัยได้โดยการส่งตรวจทางรังสี เช่น การตรวจเอกซเรย์ (X-rays)

รักษากระดูกไหปลาร้าหัก

การรักษากระดูกไหปลาร้าหัก แบ่งออกเป็น

1) การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ส่วนใหญ่กระดูกไหปลาร้าหักสามารถรักษาได้โดยการไม่ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนที่ของกระดูกหักไม่มาก ในกรณีนี้สามารถรักษาได้โดยการใส่ที่พยุงแขนไว้เป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ ร่วมกับการงดขยับหัวไหล่ในช่วง 2 สัปดาห์แรก และค่อย ๆ เริ่มขยับมากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะหัวไหล่ติด โดยแพทย์จะนัดเพื่อตรวจติดตามผลการรักษาและอาจพิจารณาตรวจทางรังสีเป็นระยะ ๆ โดยทั่วไปกระดูกจะติดภายในระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์

อย่างไรก็ตามการรักษากระดูกไหปลาร้าหักโดยไม่ผ่าตัดอาจมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูป ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกรณีที่กระดูกหักเคลื่อนจากกันมาก

2) การรักษาแบบผ่าตัด ในกรณีที่กระดูกไหปลาร้าหักและมีการเคลื่อนที่ออกจากกันมาก โดยเฉพาะหดสั้นหรือแยกออกจากกันมากกว่า 2 เซนติเมตร การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กดามกระดูกจะเพิ่มโอกาสกระดูกติดและลดการติดผิดรูปได้ ในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยเทคนิค MIPO (Minimally Invasive Percutaneous Plate Osteosynthesis) โดยเปิดแผลสั้น ๆ ประมาณ 2 – 3 แผล หลังจากนั้นสอดเหล็กเข้าไปใต้ผิวหนังและยึดตรึงกระดูกด้วยสกรู โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดยาวตลอดความยาวของกระดูกไหปลาร้า การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้สามารถลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและเส้นประสาท รวมไปถึงลดการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

สำหรับการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการชาบริเวณส่วนบนของหน้าอกจากแผลผ่าตัด หรือคลำได้รอยนูนของเหล็ก แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถลดโอกาสกระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูปได้ การรักษาที่เป็นไปตามข้อบ่งชี้จะสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน 

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษากระดูกไหปลาร้าหัก คือการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อให้เลือกวิธีการรักษาที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และสภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย