สรุปบทความ
ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย เกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้เส้นประสาทและหลอดเลือดไวต่อการกระตุ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวรุนแรง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดตุบ ๆ ปวดศีรษะข้างเดียว ตลอดจนคลื่นไส้ อาเจียน ปัจจัยกระตุ้นอาการที่พบได้บ่อย เช่น ความเครียด อาหารบางชนิด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ การรักษาไมเกรนมีทั้งการใช้ยาแก้ปวด ยาป้องกัน และการปรับพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ปวดหัวไมเกรนคืออะไร
ปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยโดยเกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวและเกิดการอักเสบจนทำให้เกิดอาการปวดหัวในที่สุด
ประเภทของปวดหัวไมเกรน
ปวดหัวไมเกรนสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน (Migraine without aura) เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุดในผู้ที่ปวดหัวไมเกรน
- ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) อาทิ การมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงเป็นเส้นซิกแซก เห็นแสงระยิบระยับ อาจมีหรือไม่มีสี เห็นภาพมืดบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด ภาพบิดเบี้ยว ภาพเบลอ หลับตาแล้วยังเห็นอยู่ ส่วนอาการเตือนอื่น ๆ เช่น ชาที่มือ ชาที่แขน ชารอบปาก อาจมีอาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
ปัจจัยกระตุ้นปวดหัวไมเกรน
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ได้แก่
- สภาพแวดล้อม เช่น แสงจ้า แสงแฟลช เสียงดัง กลิ่นหรือควัน อากาศเปลี่ยนฉับพลัน
- นอนไม่พอหรือนอนมากเกินไป
- อดอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
- อาหารบางชนิด เช่น ไวน์แดง เนื้อแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม ข้าวสาลี ช็อกโกแลต ผงชูรส น้ำตาลเทียม ฯลฯ
- ออกกำลังกายหักโหมหรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไป
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน
- แสงจากหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์
- ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ ทำให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงไตรมาสแรก ส่งผลให้เกิดภาวะปวดหัวไมเกรน
- ความเครียด
- การใช้ยาบางชนิด
- การสูบบุหรี่
- พันธุกรรม
อาการปวดหัวไมเกรน
- ปวดหัวข้างเดียว อาจสลับข้างซ้ายหรือข้างขวาได้ แต่มักเป็นทีละข้าง
- ปวดแบบตุ้บ ๆ บริเวณขมับ
- ปวดหัวจี๊ด ๆ
- ปวดร้าวกระบอกตา
- ปวดหัวท้ายทอย
- คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว
- อาจมีอาการเตือน (Aura) ก่อนปวดศีรษะประมาณ 5 – 60 นาที เช่น เห็นแสงวูบวาบ ไฟระยิบระยับ เห็นภาพเบลอ เป็นต้น
ระยะการปวดหัวไมเกรน
ปวดหัวไมเกรนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
หากแบ่งอาการปวดหัวไมเกรนจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะก่อนปวด (Prodrome) อาการล่วงหน้าก่อนปวดหัวไมเกรนประมาณ 1 – 2 วัน เช่น ปวดตึงตามต้นคอ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด อยากอาหาร ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
- ระยะเตือนนำ (Aura) มักเกิดก่อนปวดหัวไมเกรนประมาณ 5 – 60 นาที ตัวอย่างอาการที่พบได้บ่อย เช่น เห็นภาพผิดปกติไป เห็นเป็นแสงแฟลช เห็นเส้นซิกแซก ภาพเบลอ ภาพบิดเบี้ยว ชา ไม่มีแรง เป็นต้น
- ระยะปวดหัวไมเกรน (Headache) มีอาการปวดหัวไมเกรนเฉลี่ยตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมง ปวดหัวตุบ ๆ ปวดหัวข้างเดียว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย รวมถึงแพ้ต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระตุ้น
- ระยะหลังปวด (Postdrome) เมื่อเริ่มหายปวดหัวไมเกรนอาจมีอาการอ่อนเพลีย หมดแรง เวียนหัว สับสน ไม่มีสมาธิ อาจไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลง แต่จะหายได้เองใน 48 ชั่วโมง
ข้อสังเกตอาการไมเกรนเพิ่มเติม
- การทำกิจวัตรทั่วไป เช่น การเดินหรือขึ้นบันไดจะทำให้อาการปวดหัวเป็นมากขึ้น
- อาการจะดีขึ้นถ้าได้พักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ ในห้องที่มืดและเย็น
- อาการร่วมอื่นที่พบร่วมกับอาการปวดหัว คือ คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง ไม่อยากเห็นแสงจ้า ไม่อยากได้ยินเสียงดัง
- การจะรู้ว่าอาการปวดหัวเกิดจากไมเกรนต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อความถูกต้อง
วิธีรักษาปวดหัวไมเกรน
ปวดหัวไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและการใช้ยาอย่างเหมาะสม เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดหัวลดลง การรักษาปวดหัวไมเกรน แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ
1) แบบยากิน
แบบที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเฉียบพลัน แพทย์จะให้รับประทานยาเฉพาะเวลาที่มีอาการปวดหัวเท่านั้นและให้รับประทานยาหลังจากเริ่มมีอาการทันทีเพื่อให้ได้ผลการรักษาอาการปวดหัวที่ดี ประกอบด้วย
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
- ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ยาเฉพาะเจาะจงกับไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) หรือ ยาที่มีส่วนผสมของเออร์โกทามีน (Ergotamine) ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง
- ยาสำหรับลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ยาลดการอักเสบกรณีปวดหัวไมเกรนช่วงมีประจำเดือน (ยา Triptan หรือกลุ่ม NSAIDs) รับประทานก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 – 3 วัน และรับประทานยาต่อจนหมดประจำเดือน 4 – 5 วัน
- ยาแก้ปวดกรณีตั้งครรภ์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาต้านอาการซึมเศร้า
หมายเหตุ: ยาทุกชนิดต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อร่างกาย
ยาป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนค่อนข้างบ่อยหรือรุนแรงให้รับประทานยาป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน โดยต้องรับประทานยาติดต่อกันทุกวัน ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ ประกอบด้วย
- กลุ่มยากันชัก topiramate, valproic acid เป็นต้น
- กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น flunarizine, cinnarizine, verapamil เป็นต้น
- กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น propanolol, atenolol, metoprolol เป็นต้น
2) แบบยาฉีด
รักษาไมเกรนด้วยยาต้านสาร CGRP
CGRP (Calcitonin Gene – Related Peptide) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณความเจ็บปวดและการขยายตัวของหลอดเลือดในสมอง เมื่อระดับ CGRP ในร่างกายเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ ปัจจุบันมีการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งสาร CGRP ทั้งในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน
โดยยาฉีดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสาร CGRP นั้น มีทั้งแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังและการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งช่วยลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดหัวไมเกรน และลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดลงได้ สำหรับยาที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังนั้น การฉีด 1 เข็ม มีฤทธิ์ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนได้นานประมาณ 1 เดือน ส่วนยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำในแต่ละครั้งนั้นมีฤทธิ์ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนได้นานประมาณ 3 เดือน
หมายเหตุ: การใช้ยาต้านสาร CGRP ทุกชนิดต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
รักษาไมเกรนด้วยการฉีด Botulinum Toxin
ในผู้ป่วยที่ปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraine) คือ มีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไป อาจพิจารณาฉีด Botulinum Toxin ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง ลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเป็นประจำ
3) แบบกระตุ้นไฟฟ้า TMS
เป็นการใช้เครื่องสร้างสนามแม่เหล็กกำลังสูงและนำสนามแม่เหล็กไปกระตุ้นสมอง บริเวณที่ทำให้เกิดโรค ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงไมเกรน ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดหัวไมเกรนได้
ป้องกันปวดหัวไมเกรน
- ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่เหมาะสม อาการปวดหัวจะเป็นอยู่นาน 4 – 72 ชั่วโมง
- ออกจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้ปวดหัวไมเกรน เช่น มีแสงจ้า เสียงดัง มีกลิ่นเหม็น หรือ ฝุ่น PM2.5
- สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมจนเกินไป
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke)
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
- ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิดต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ถ้าอาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
แพทย์ผู้ชำนาญการรักษาปวดหัวไมเกรน
นพ.ชาคร จันทร์สกุล อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาปวดหัวไมเกรน
โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก พร้อมค้นหาสาเหตุ ดูแลรักษา และป้องกันโรคปวดหัวไมเกรน ด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง