หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โภชนบำบัดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

โภชนบำบัดหลังการผ่าตัดมีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยส่งเสริมการหายของบาดแผลผ่าตัดและส่งเสริมภาวะโภชนาการให้กับผู้ป่วยที่มีบาดแผลจากการผ่าตัดให้ได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ร่างกายจะนำสารประกอบทางเคมีที่ได้จากอาหารไปช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและทำให้เซลล์มีพลังงานเกิดปฏิกิริยาตามกระบวนการหายของแผลตามธรรมชาติ ลดการติดเชื้อของแผล ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย ดังนั้นอาหารจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมน้ำหนักภายหลังการผ่าตัดเพื่อลดแรงกระทำต่อข้อเข่าที่เพิ่งผ่าตัด ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมาก ลดอาการปวดและส่งผลให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดี

โดยปกติหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ผู้ป่วยจะอยู่ในห้องพักฟื้นเป็นเวลา 1 – 2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวจากยาสลบแล้วจะย้ายกลับไปห้องพักผู้ป่วย โดยในช่วงแรกหลังผ่าตัดอาจจะมีการให้เลือด น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการคลื่นไส้และความรู้สึกตัวยังไม่ดี เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้น้ำเกลือจนสามารถทานอาหารได้เองเพียงพอ และพักรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ประมาณ 5 – 7 วัน

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงหลังผ่าตัด

  • อ่อนเพลียจากการผ่าตัด เนื่องจากการสูญเสียเลือดและของเหลวในร่างกาย
  • คลื่นไส้ อาเจียน ภายหลังจากการผ่าตัดจากฤทธิ์ของยา
  • เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • โรคประจำตัว เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี อาจมีผลทำให้แผลหายช้าลง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน จะทำให้มีแรงกดที่กระทำต่อข้อเข่ามาก
  • ท้องผูก

 

อาหารหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

ข้อปฏิบัติในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ได้แก่

  1. โภชนาการเพื่อช่วยส่งเสริมการหายของแผล

1.1 โปรตีน มีบทบาทต่อร่างกาย คือ สร้างเสริมและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ การขาดโปรตีนทำให้การกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ลดลงในภาวะที่ร่างกายเกิดบาดแผลหรือแผลผ่าตัด ร่างกายมีความต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นกว่าในภาวะปกติ แหล่งโปรตีนที่สำคัญประกอบไปด้วยกรดอะมิโนจากแหล่งอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ชีส โยเกิร์ต ถั่วลิสง พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

1.2 คาร์โบไฮเดรตและไขมัน ช่วยเสริมสร้างพลังงานให้เซลล์ นอกจากนี้ยังทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานดีขึ้น ลดการติดเชื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งน้ำตาลมีความจำเป็นในการสร้างพลังงานให้ร่างกายและจำเป็นต่อการรวมตัวของเม็ดเลือดขาว ไขมันเป็นแหล่งเก็บรักษาพลังงาน เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ การขาดคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ทำให้มีการสลายโปรตีนเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน แหล่งคาร์โบไฮเดรตจากอาหาร ได้แก่ ข้าว ขนมปัง บิสกิต ธัญพืช เผือก มัน แป้ง ฯลฯ แหล่งไขมันจากอาหาร ได้แก่ ไขมันในเนื้อสัตว์ เช่น ปลา โยเกิร์ต ไอศรีม ชีส นม ฯลฯ ไขมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง อะโวคาโด อัลมอนด์ วอลนัท ฯลฯ

1.3 เกลือแร่ ประกอบด้วย โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นสารที่ใช้ในการคงไว้ซึ่งการทำงานตามปกติของเซลล์และรักษาสมดุลของน้ำให้อยู่ในระดับเดียวกับเซลล์ ความสมดุลของเกลือและน้ำมีความสำคัญในการคงไว้ซึ่งการไหลเวียนเลือดในเนื้อเยื่อ ถ้าผิวหนังได้รับน้ำไม่เพียงพอ สารอาหารจะไม่สามารถไปเลี้ยงเซลล์ได้

1.4 สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อมีแผลจากการผ่าตัด ร่างกายต้องการสังกะสีสูงขึ้น แหล่งสังกะสีจากอาหาร คือ หอยนางรม หอยแมลงภู่ เมล็ดทานตะวัน ตับ เนื้อแดง ปลา ไข่ เป็นต้น

1.5 วิตามิน มีความสำคัญต่อกระบวนการหายของแผล ช่วยสังเคราะห์คอลลาเจน ช่วยต่อต้านการติดเชื้อ เช่น
– วิตามิน C จากอาหารได้แก่ ส้ม องุ่น มะนาว สตรอเบอร์รี แคนตาลูป ฯลฯ
– วิตามิน E จากอาหาร ได้แก่ ผัก น้ำมันรำข้าว ฯลฯ
– วิตามิน A จากอาหาร ได้แก่ ตับ แครอท ผักผลไม้สีส้ม ผักใบเขียว ฯลฯ

  1. โภชนาการเพื่อช่วยลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

การลดน้ำหนักที่ดีไม่จำเป็นต้องลดให้ถึงน้ำหนักมาตรฐานหรือน้ำหนักปกติ ปัจจุบันมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การลดน้ำหนักลงเพียงร้อยละ 5 – 10 ของน้ำหนักตัว ณ ปัจจุบัน จะช่วยลดปัญหาสุขภาพและแรงกดที่กระทำต่อข้อเข่าได้  การเลือกรับประทานอาหารและการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการลดน้ำหนัก มีหลักในการปฏิบัติดังนี้

2.1 ลดพลังงาน (แคลอรี่) จากอาหารปกติที่รับประทานลงวันละ 500 – 1,000 กิโลแคลอรี่ ซึ่งจะทำให้ลดน้ำหนักได้ประมาณสัปดาห์ละ 0.5 – 1.0 กิโลกรัม  ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการถึงปริมาณการบริโภคที่เหมาะสม

2.2 รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ แต่ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง เช่น ลดข้าวลงมื้อละ 1 – 2 ทัพพี รับประทานผักเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ใยอาหารและทำให้อิ่มได้นาน ตักข้าวตามจำนวนที่กำหนดเพียงครั้งเดียวและไม่ตักเพิ่มอีก การอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งนอกจากทำให้เพิ่มการรับประทานอาหารในมื้อถัดไปมากกว่าปกติแล้วยังทำให้การเผาผลาญ (การใช้พลังงาน) ลดลงด้วย เมื่อรับประทานอาหารเท่าเดิม แต่มีการใช้พลังงานลดลงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้

2.3 รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและอาหารแต่ละมื้อไม่ควรห่างกันมากนัก การปล่อยให้มื้ออาหารห่างกันนานเกินไปมักทำให้รับประทานอาหารมากกว่าปกติและอาจทำให้มีข้อจำกัดในการเลือกอาหารที่เหมาะสม

2.4 ไม่ควรงดอาหารมื้อเช้า เนื่องจากจะทำให้มื้อถัดไปทานในปริมาณที่มากขึ้น

2.5 เลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานต่ำ /ไขมันต่ำ เช่น  ไข่ขาว เต้าหู้ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง/ติดมัน และผักใบเขียวให้บ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป ไส้กรอก เบคอน อาหารทอด แกงกะทิ เบเกอรี่ มาการีน มายองเนส น้ำเกรวี่ น้ำสลัด เป็นต้น เนื่องจาก ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของพลังงานที่ได้จากคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีน

2.6 เลือกรับประทานอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ ยำ แทนอาหารทอด จำกัดปริมาณน้ำมันในการประกอบอาหารและใช้น้ำมันในการปรุงอาหารไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อมื้อ

2.7 ดื่มนมหรือโยเกิร์ตพร่องไขมันหรือขาดไขมันแทนนมและผลิตภัณฑ์ของนมไขมันเต็มส่วน เนื่องจากมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ควรหลีกเลี่ยงนมข้นหวานและนมปรุงแต่งรสทุกชนิด

2.8 หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว ลูกกวาด น้ำผึ้ง น้ำหวาน และน้ำอัดลม

2.9 หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ให้แคลอรี่สูงเกือบเท่าไขมัน

2.10 รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด จะช่วยให้รับประทานอาหารน้อยลง

2.11 ลด / เลี่ยงการเติมน้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว หรือเครื่องปรุงที่มีรสเค็ม ก่อนทานอาหาร

2.12 ใช้น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ทดแทนการเติมน้ำตาลในอาหาร / เครื่องดื่ม

2.13 ถ้ารู้สึกหิวระหว่างมื้อ ควรเลือกอาหารที่มีใยอาหาร เช่น ผักสด/ผักลวก/ต้ม  เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังไม่ติดมัน หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล

2.14 หลีกเลี่ยงการทานจุบทานจิบ อาหาร/ของว่างที่มีพลังงานสูง การทานลักษณะนี้บ่อย ๆ จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินโดยไม่จำเป็น

2.15 เลือกรับประทานผลไม้สดในปริมาณที่เหมาะสมแทนผลไม้กระป๋อง ขนมหวาน และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้

  1. โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย

ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดอาจมีภาวะอ่อนเพลีย เหนื่อย หลับ ๆ ตื่น ๆ  ปวดแผล หรือคลื่นไส้ วิงเวียน ศีรษะ อาเจียน เนื่องมาจากการเสียเลือด ของเหลวในร่างกาย และฤทธิ์ของยาชา ยาสลบ ในช่วงนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ จึงอาจจะทำให้เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

การรับประทานอาหารหลังการผ่าตัด ควรเริ่มด้วยอาหารอ่อน นุ่ม ย่อยง่าย ไขมันต่ำ กลิ่นอ่อน ไม่รสจัด อาหารที่สำคัญคือ โปรตีน จะช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย ทำให้แผลหายเร็ว เนื้อสัตว์ทุกชนิดสามารถนำมาทำเป็นอาหารของผู้ป่วยหลังได้รับการผ่าตัด เพียงแต่ต้องทำให้นุ่ม เปื่อยเท่านั้น อาทิเช่น ปลา เต้าหู้ ไข่ เป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ไม่เหนียว นำมาทำอาหารให้ผู้ป่วยได้ดี ส่วนผัก ให้เลือกผักที่ก้านไม่แข็ง ควรเลือกผักใบและเคี่ยวให้นุ่ม เปื่อย ผลไม้ ควรเป็นผลไม้ที่นุ่ม ไม่มีเปลือกแข็งหรือมีใยมาก เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก มะม่วงสุก เป็นต้น ของหวาน ควรเป็นขนมหวานที่รสไม่หวานจัด มีลักษณะนุ่ม เช่น สังขยา ไอศกรีม เยลลี่ คัสตาร์ด สาคูเปียก เป็นต้น เครื่องดื่มประเภทน้ำนม นมถั่วเหลือง ที่เป็นแหล่งของแคลเซียม หรือน้ำผลไม้สด เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยง ชา กาแฟ แต่ถ้าจำเป็นต้องดื่มก็ควรเลือกชนิดที่ไม่คาเฟอีน ส่วนเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ควรงดเว้น

อาหารอ่อนเป็นอาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ถ้าอาหารนั้นผู้ป่วยสามารถรับประทานได้หมด เพราะฉะนั้นการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ รสชาติของอาหารจึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล ถึงแม้อาหารจะต้องมีรสอ่อน แต่ถ้ารสอ่อนอย่างกลมกล่อมก็สามารถรับประทานได้มาก ๆ เท่ากับอาหารรสจัด วิธีการจัดอาหาร สีสันของอาหารเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นความอยากรับประทานอาหาร ทำให้ลืมความเจ็บป่วยได้บ้าง ในกรณีที่ผู้ป่วยเบื่ออาหาร การรับประทานบ่อย ๆ ครั้งละน้อย ๆ โดยแบ่งเป็น 5 – 6  มื้อ สามารถช่วยให้ได้พลังงานมากขึ้น

เมื่อผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยยังเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาจพิจารณาให้อาหารเสริม หรืออาหารทางการแพทย์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารครบถ้วน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและลารอาหารอย่างเพียงพอ

  1. โภชนาการสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหลังการผ่าตัด

4.1 กินอาหารให้หลากหลายและครบทุกหมู่ คือ ข้าว/แป้ง/ธัญพืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์/ถั่ว นม และ ไขมัน  เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

4.2 เลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก และผลไม้

4.3 กินอาหารตามปริมาณที่นักกำหนดอาหารแนะนำ โดยกินอาหารแต่ละหมู่ในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวัน

4.4 กินอาหารแต่ละมื้อให้ห่างกันประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง

4.5 ไม่งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง

4.6 กินอาหารในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน

4.7 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง

4.8 หลีกเลี่ยงขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาล

4.9 ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่น้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักลงจากเดิมร้อยละ 5  – 10 (ประมาณ 3 – 10 กิโลกรัม) จะช่วยให้คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
 

  1. โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูก

อาการท้องผูก หมายถึง ภาวะที่มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ ในคนปกติจะถ่ายอุจจาระวันละ 3 ครั้ง หรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ดังนั้นหากขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็จะถือว่าผิดปกติ การรับประทานอาหารที่เพียงพอ ครบตามมื้อ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยอาหารปริมาณที่เพียงพอ  จากผัก ผลไม้ ธัญพืช และเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ จะถูกขับออกมากับอุจจาระ ซึ่งประโยชน์ของใยอาหารจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวได้ดี ช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม ขับถ่ายง่าย ซึ่งปริมาณใยอาหารที่ควรได้รับอย่างน้อยประมาณ 25 – 30 กรัมต่อวัน ถ้าได้รับใยอาหารมากกว่า 50 – 60 กรัมต่อวัน อาจทำให้ท้องอืด มีแก๊สมาก หรือขัดขวางการดูดซึมวิตามิน เกลือแร่บางชนิดได้

แหล่งของใยอาหาร ได้แก่

  • ผักต่าง ๆ เช่น ตำลึงสุก คะน้าสุก ผักกระเฉด ผักกาดขาว ควรได้รับอย่างน้อยมื้อละ 1 – 2 ทัพพี
  • ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ฝรั่ง มะม่วง แอปเปิล ควรรับประทานผลไม้สดทั้งลูก มื้อละ 8 – 10 ชิ้นคำ
  • ธัญพืชทั้งเมล็ด เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ งาดำ ข้าวโพด
  • ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดงสุก ถั่วเขียวสุก ถั่วดำ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน
  • แหล่งอื่น ๆ ได้แก่ ใยอาหารชนิดละลายน้ำ ชนิดอินนูลินพบใน หอม กระเทียม กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง