หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่มองไม่เห็น

ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็น “ภัยเงียบ” อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะไม่พบว่ามีอาการใด ๆ จนกระทั่งล้มแล้วมี “กระดูกหัก” จึงรู้ว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน” สาเหตุเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติการรับน้ำหนัก กระดูกเปราะ หักง่าย บางคนอาจตัวเตี้ยลง (มากกว่า 3 เซนติเมตร) เนื่องจากกระดูกสันหลังโปร่งบางและยุบตัวลงช้า ๆ หรือบางคนมีอาการปวดหลังจากการล้มหรือยกของหนัก

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเพียงแค่มีแรงกระแทกเบา ๆ การบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด ไอ จาม หรือลื่นล้ม ทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักได้ง่าย ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา และคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง

รู้หรือไม่…

  • ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1 ล้านคน
  • คนไทยประมาณร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ไม่ทราบว่าโรคกระดูกพรุนรุนแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

ความเสี่ยงเมื่อกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน

20% มักเสียชีวิตภายใน 1 ปี

30% พิการถาวร

40% ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน

80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนก่อนกระดูกหัก

กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน มีอันตรายสูงมาก ควรป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุนทันทีเมื่อทราบ

โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่มองไม่เห็น

รู้จักโรคกระดูกพรุน

แม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศทุกวัย และพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้

ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุน

  • เพศ ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง การสลายกระดูกจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40 – 50%
  • อายุ มวลกระดูกของคนเราหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ
    – ผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 10 คน ใน 100 คน
    – ผู้หญิงอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 20 คน ใน 100 คน
    – ผู้หญิงอายุเกิน 80 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 40 คน ใน 100 คน
  • กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย
  • เชื้อชาติ ชาวต่างชาติที่มีผิวขาวและคนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง
  • ยา การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานานทำให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ป่วยโรค SLE (โรคพุ่มพวง)ยาทดแทนธัยรอยด์ ยาป้องกันการชัก เป็นต้น
  • เคยกระดูกหัก โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5 เท่า
  • แอลกอฮอล์ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น
  • บุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักสูงขึ้น 1.5 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่
  • ผอมเกินไป คนที่ผอมเกินไปจะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า และมีความเสี่ยงกระดูกหักเพิ่มขึ้น 2 เท่าของคนรูปร่างปกติ
  • ขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้วยังอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน
  • ขาดการออกกำลังกาย คนไม่ออกกำลังกายมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า พบว่า ผู้หญิงที่นั่งมากกว่า 9 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้หญิงที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันถึง 50%
  • การรับประทานอาหาร ถ้าได้รับเกลือมากกว่า 1 ช้อนชา/วัน ชา กาแฟมากกว่า 3 แก้ว/วัน น้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋อง/สัปดาห์ และทานโปรตีนมากกว่า 10 – 15% ในแต่ละมื้อของอาหาร มีความเสี่ยงกระดูกพรุนสูง เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ส่วนอาหารเค็มจัดและคาเฟอีนยังทำให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้นอีกด้วย

วัยทองกับโรคกระดูกพรุน

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีเนื้อกระดูกน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 10 – 30% และเมื่อหมดประจำเดือนจะมีการสลายของกระดูกมากถึงร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปหรือที่เรียกว่า “วัยทอง” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ทำให้เนื้อกระดูกเปราะบาง มีผลทำให้กระดูกหักได้ง่าย ๆ

อาการพบบ่อย

โรคกระดูกพรุน ได้ชื่อว่าเป็น “มฤตยูเงียบ” เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อกระดูกหักเสียแล้ว ส่วนอาการที่พบได้คือปวดหลัง ซึ่งเกิดจากกระดูกบางมาเป็นเวลานาน อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีกระดูกสันหลังยุบตัว และจะทำให้หลังค่อมและเตี้ยลงได้ นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว กระดูกอื่น ๆ ที่ถูกทำลายมาก คือ ข้อมือและสะโพก

สูงวัยกระดูกพรุน-กระดูกหัก

ป้องกันกระดูกพรุนคนวัยทอง

ผู้หญิงในวัยทองควรดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ ควรลดความเครียด รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้ง ถั่วแดง ผักคะน้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสารหลักในการสร้างเนื้อกระดูก ทั้งนี้ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน การเสริมแคลเซียมไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรง แต่ช่วยยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูกเท่านั้น

ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการสลายของแคลเซียมจากกระดูกได้ด้วย นอกจากนี้ควรงดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และพยายามป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้ม เป็นต้น

รู้ทันป้องกันกระดูกพรุน

การป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้นไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ยังเด็ก เพื่อลดโอกาสเกิดโรคดังกล่าวในอนาคต

อาหารเสริมพลัง ป้องกันกระดูกพรุน

  • แคลเซียม ที่ร่างกายต้องการอาจแตกต่างในแต่ละวัย และสภาวะร่างกาย ดังนี้ อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมากได้แก่ ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี นมและผลิตภัณฑ์ของนม ปลาซาร์ดีนพร้อมกระดูก ปลาตัวเล็ก ๆ พร้อมกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง งาดำ กะปิ เป็นต้น
  • วิตามินดี มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยร่างกายต้องการวิตามินดี วันละ 400-800 หน่วย
  • นม 1 แก้ว = มีวิตามินดี 100 หน่วย และแคลเซียม 300 มิลลิกรัม

ออกกำลังทุกวัน ป้องกันกระดูกพรุน สมดุลการทรงตัว

เด็กเล็ก พบว่าเด็กไทยมีปัญหาขาดการออกกำลังกายในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนสูง เนื่องจากขาดการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักผ่านกระดูก

ผู้ใหญ่ พบว่า ผู้ที่นั่งมากกว่า 9 ชั่วโมง/วัน มีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้ที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วัน ถึง 50%

ผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก เช่น เต้นรำ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ทั้งบนถนนหรือลู่วิ่ง ทั้งนี้การฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้มเป็นวิธีการที่ดีที่จะลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักได้ เช่น การรำมวยจีนบางประเภท แต่ถ้าไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

 

ตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD)

การตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD) ด้วยเครื่องมือรังสีชนิดพิเศษ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวด ใช้ตรวจกระดูกได้ทุกส่วน แต่ที่นิยมและใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ ที่กระดูกสันหลังช่วงเอวและกระดูกสะโพก ซึ่งจะได้ค่าเป็นตัวเลขแสดงความเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐาน

ส่วนภาพ X-rays ในภาวะกระดูกพรุนจะเห็นเนื้อกระดูกจาง ๆ โพรงกระดูกกว้างออก ความหนาของผิวกระดูกลดลงและมีเส้นลายกระดูกหยาบ ๆ โดยจะเห็นขอบของกระดูกเป็นเส้นขาวชัด ในบางราย อาจเห็นกระดูกหักหรือกระดูกสันหลังทรุดตัว

ตรวจกระดูกตอนไหนดี

  • ผู้ที่มีอาการปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยง ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นกระดูกเมื่ออายุ 60 ปี
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติกระดูกหักในครอบครัวจากภาวะกระดูกพรุน หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจความหนาแน่นกระดูกเร็วขึ้น

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับกระดูกพรุน

Q ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นโรคกระดูกพรุน ผู้ชายและเด็กไม่เป็นจริงหรือ?
A : ถึงแม้กระดูกพรุนจะเป็นโรคที่พบบ่อยในเพศหญิง แต่เพศชายก็พบได้โดยเฉพาะเมื่อมีอายุสูงขึ้น และหากมีกระดูกหักโดยเฉพาะที่สะโพกพบว่า เพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิง สำหรับเด็กหากไม่ดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย โอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดได้เร็วขึ้น

Q หากเคยประสบอุบัติเหตุที่รุนแรงแล้วกระดูกหัก ไม่น่าจะเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน?
: การเกิดกระดูกหักในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มักเป็นอาการแรกที่อาจบ่งบอกถึงภาวะกระดูกพรุน กระดูกหักจากอุบัติเหตุที่รุนแรงสามารถพบร่วมกับกระดูกพรุนได้

Q หากเราดื่มนมและออกกำลังกายแล้วจะไม่มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุน?
: ยังมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และมีบางปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น ประวัติครอบครัว กรรมพันธุ์ อายุมาก เป็นต้น

Q คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการวิตามินดีเสริม เพราะร่างกายสร้างเองได้จากผิวหนัง?
: ยังมีความเข้าใจผิดกันมากว่าการที่เมืองไทยมีแสงแดดมาก คนไทยจึงได้รับวิตามินดีจากแสงแดดตามธรรมชาติอย่างเพียงพอ แต่ความเป็นจริงพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงวัยทองในประเทศไทยที่เป็นโรคกระดูกพรุนมีภาวะ “ขาดวิตามินดี” เนื่องจากรับแสงแดดน้อยและทาครีมกันแดดทำให้ความสามารถในการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนังลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นคนที่ไม่ได้รับแสงแดด เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่แต่ในบ้าน มีความจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีเสริม

สะโพกหัก

จัดบ้านกันหกล้ม

คุณทำได้! ง่าย ๆ ที่บ้าน ด้วยการลดอุบัติเหตุภายในบ้าน ป้องกันกระดูกหักจากการหกล้ม หรือกระแทกเบาๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีการทรงตัวไม่ดี

  • พื้น เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางที่อาจทำให้สะดุดล้ม เช่น สายไฟ สายโทรศัพท์ เชือก พรม (ต้องไม่มีขอบเผยอขึ้นมาให้สะดุด) พรมหรือผ้าเช็ดเท้าต้องวางไว้บนแผ่นยางกันลื่น
  • ห้องน้ำ ติดตั้งราวจับที่ผนัง และแผ่นยางกันลื่นบริเวณที่อาบน้ำ
  • แสงสว่าง มีแสงสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณบันไดและห้องโถงทางเข้า เปิดไฟทุกครั้งเมื่อต้องการลุกขึ้นมาในตอนกลางคืน
  • ห้องครัว วางพรมยางกันลื่นใกล้อ่างน้ำ และเตาหุงต้ม เช็ดหยดน้ำที่พื้นทันทีเมื่อหกกระเด็น
  • บันได บันไดต้องไม่ลื่น ขั้นต้องกว้างพอ ไม่ชัน หรือลาดมากเกินไป มีราวให้เกาะ และมีแสงสว่างเพียงพอ
  • รองเท้า สวมรองเท้ายางที่ไม่ลื่น (ห้ามใส่ถุงเท้าเดิน)
  • ยาหรือของมึนเมา ยาบางชนิดทำให้มึนงงและอาจทำให้ล้มได้ และควรลดการดื่มแอลกอฮอล์