โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าอัมพาต หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะพบมากขึ้นทุกวันในสภาวะความเครียดทางเศรษฐกิจปัจจุบัน อัมพาตอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สถิติตัวเลขของผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ การที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่เป็นทางเดินของเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตในระยะต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

อาการสมองขาดเลือด

อาการของโรคมีความรุนแรงแตกต่างกัน แยกได้เป็น 3 ระดับ

  1. อาการน้อย คือ กลุ่มของผู้ที่มีหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตันเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก ยังไม่เกิดการทำลายของเซลล์สมองในบริเวณนั้น สมองขาดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดอาการ ซึ่งอาจเป็นวินาที นาที หรือชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ลักษณะอาการประกอบด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะเป็นที่แขนอย่างเดียว ขาอย่างเดียว หน้าและแขน การเคลื่อนไหวช้าลง ที่ใบหน้าจะเห็นมุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ ความจำเสื่อมชั่วขณะ คิดอะไรไม่ออก พูดไม่ชัด เป็นต้น
  2. อาการปานกลาง (อัมพฤกษ์) กลุ่มนั้นเซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ภายหลังการรักษาแล้ว อาการอาจดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 3-6 เดือน อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด นอกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้ว ผู้ป่วยจะสูญเสียการทรงตัวบางขณะ มีอาการตามัวครึ่งตา หรือมืดไปข้างหนึ่ง สูญเสียความทรงจำ และความสามารถในด้านการคิดคำนวณ การตัดสินใจ และมักมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ
  3. อาการรุนแรง (อัมพาต) กลุ่มนี้เซลล์สมองถูกทำลายโดยถาวร จะเกิดการอ่อนแรงของแขนและขา ขยับแขนหรือขาเองไม่ได้ สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ หรือเปล่งเสียงออกมาจากลำคอไม่ได้ กล้ามเนื้อหน้าทำงานไม่เท่ากัน หนังตาตก กลอกตาไม่ได้ กลืนอาหารลำบาก ปฏิกิริยาตอบสนองช้า สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือด

  1. ความดันโลหิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140 – 80 มิลลิเมตรปรอท (ค่าปกติ 140 – 80 มิลลิเมตรปรอท) จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือเกิดการแตกหรือตีบของหลอดเลือดสมอง
  2. โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็ง ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน เกิดเป็นอัมพาต (หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้ามากกว่า 110 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มากกว่า 2 ครั้ง อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน)
  3. ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เป็นอัมพาตในเวลาต่อมา
  4. สูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากยิ่งเสี่ยงมาก เนื่องจากสารในบุหรี่หลายตัวเป็นตัวเร่งให้เกิดการระคายเคืองของผนังหลอดเลือดจนเกิดการตีบตันขึ้นได้
  5. ขาดการออกกำลังกาย
  6. ความเครียด ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตันเฉียบพลัน
  7. โรคอ้วน

ตรวจเช็กโรคสมองขาดเลือด

การตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบโอกาสเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี นอกจากการตรวจเม็ดเลือดแดง เพื่อดูความเข้มข้นของเลือด การตรวจการอักเสบของหลอดเลือด การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดแล้ว อาจทำการตรวจเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม ในรายที่ผลการตรวจเลือดมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองขาดเลือด ได้แก่

  • การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองว่ามีการแตกหรือตีบตันของหลอดเลือดในสมองหรือไม่
  • การตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยสนามแม่เหล็กที่สามารถให้รายละเอียดของสมองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจพบการตีบตันของหลอดเลือดสมองได้ตั้งแต่ในระยะแรก และยังสามารถตรวจความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เป็นต้น
  • การทำอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคอ (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อตรวจภาวะความอุดตันของหลอดเลือดบริเวณคอ การไหลเวียนของเลือดที่หลอดเลือดคอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่สำคัญที่ไปเลี้ยงสมอง โดยใช้คลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจหาขนาดและความหนาของผนังหลอดเลือด รวมทั้งการหมุนเวียนของหลอดเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง

อัมพาตป้องกันได้ หากเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเอง และคนใกล้ชิด และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อสามารถตรวจพบและติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายแต่เนิ่น ๆ


MAGIC NUMBER 4.5 และการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ


ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง