สรุปบทความ
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและเสียหาย อาการอาจรุนแรงถึงขั้นอัมพาต การรักษามีหลายวิธี เช่น การให้ยาละลายลิ่มเลือด การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การใช้ขดลวด (Stent) และการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ การรู้เท่าทันและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสฟื้นตัวได้ดี
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke สโตรก เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร
โรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบต่อสมองอย่างไร
หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้
สมองซีกซ้าย |
สมองซีกขวา |
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา | อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย |
ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน | สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง |
สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง | สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่วางแผน |
เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง | เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง |
ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร
ทั้งวัยรุ่นและผู้สูงวัยก็มีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยโรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลัก ๆ
-
หลอดเลือดสมองตีบ (Atherosclerosis) มีโอกาสเกิดได้ถึง 80% จากการที่ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน
-
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันชนิดที่ไม่ดี (Low – Density Lipoprotein – LDL) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
-
-
หลอดเลือดสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ลิ่มเลือดบริเวณหัวใจลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมอง
-
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต
-
สาเหตุอื่น ๆ เช่น กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรง ๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จัมป์หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม
-
-
หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic) มีโอกาสเกิดได้ 20% จากการที่เลือดออกในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง
-
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง
-
สาเหตุอื่น ๆ เช่น การรับประทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ที่เกินความจำเป็น
-
โรคหลอดเลือดสมองอาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการดังต่อไปนี้
- สูญเสียการควบคุมอวัยวะบางส่วนจากอาการอ่อนแรงหรืออัมพาต โดยเฉพาะที่แขนและขาด้านใดด้านหนึ่ง
- การพูดและการมองเห็นไม่ปกติ เช่น กลืนลำบาก ทรงตัวไม่ค่อยได้ ปากเบี้ยว ตามัว เดินเซ
- มีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในกรณีที่เป็นรุนแรง
สังเกตอาการหลอดเลือดสมองด้วย BE FAST
BE FAST สังเกตสัญญาณเตือนอาการโรคหลอดเลือดสมองแบบเฉียบพลัน ได้แก่
- B = Balance เวียนหัว เดินเซ ทรงตัวไม่ได้
- E = Eyes ตามัว มองไม่เห็นเฉียบพลัน
- F = Face ปากเบี้ยว มุมปากตก
- A = Arm แขนขาอ่อนแรงซีกเดียว
- S = Speech พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สื่อสารไม่ได้
- T = Time ควรรีบไปโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมง
หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
- ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการใช้ชีวิต
- รับประทานอาหารไขมันสูงเช่น ของทอด ของมัน
- การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นเวลานาน
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ปัจจัยเสี่ยงจากความผิดปกติของหลอดเลือดและจากโรคประจำตัว
- โรคเบาหวาน
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation), โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ (Aortic Valve Stenosis) เป็นต้น
- โรคหลอดเลือดแดงที่คอตีบ (Severe Carotid or Vertebral Stenosis)
- ภาวะเลือดแดงผิดปกติ (Polycythemia vera หรือ PV) หรือ ภาวะเกล็ดเลือดผิดปกติ (Essential Thrombocythemia หรือ ET)
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Coagulopathy)
- การเซาะตัวของผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid or Vertebral Artery Dissection)
- ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้
- อายุที่มากขึ้น ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
- เชื้อชาติ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าชาติอื่น ๆ
- เพศ เพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง แต่เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นพบว่ามักจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและเสียชีวิตมากกว่าเพศชาย
- พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง
- การใช้ฮอร์โมน ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดหรือเคยบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองมากขึ้นในเพศหญิง
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมองขาดเลือดหรือบริเวณที่สมองได้รับผลกระทบ
- มีอาการชา ปวด ส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เจ็บแขนซ้าย ชาแขนขาข้างซ้าย ชาด้านซ้าย ชาครึ่งตัว ชาแขนข้างเดียว
- การพูดหรือการกลืนมีปัญหา กลืนอาหารลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืนอ่อนแรงลง จึงทำให้สำลักได้ง่าย ความสามารถในการพูดคุยกับผู้อื่นลดลง
- ปัญหาด้านอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวนหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ อาจเสี่ยงภาวะซึมเศร้า
- สูญเสียความทรงจำหรือมีปัญหาทางสมอง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเข้าใจ หรือการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ลดลง
- อัมพาต อาจเป็นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายหรือด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าหรือแขน
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ข้อไหล่เคลื่อน แผลกดทับ ภาวะปอดติดเชื้อ ปัญหาในการควบคุมปัสสาวะ เป็นต้น
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
-
ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและอาหารรสเค็ม
-
ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
-
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ โดยคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) นำน้ำหนักหารด้วยความสูงที่เป็นเมตรสองครั้ง เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 18.5 – 22.9 หากเกินจากนี้ถือว่าน้ำหนักเกินเกณฑ์
-
งดสูบบุหรี่
-
งดดื่มแอลกอฮอล์
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-
-
ตรวจเช็กโรคหลอดเลือดสมอง
-
-
การตรวจดูการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดสมองช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและติดตามความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้อย่างทันท่วงที ได้แก่
-
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI: Magnetic Resonance Imaging)
-
การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan: Computerized Tomography Scan)
-
การฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiography)
-
-
การตรวจหลอดเลือดโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
-
-
-
-
การตรวจหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ (Transcranial Doppler Ultrasound – TCD) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจหลอดเลือดแดงสมองใต้ฐานสมองภายในกะโหลกศีรษะ โดยส่งคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านบริเวณกระดูกขมับ (Temporal Window) ที่มีความบาง ด้วยการใช้หัวตรวจความถี่ต่ำเพียง 2 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อตรวจหาความเร็ว ทิศทาง และลักษณะการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดสมอง ทำให้ระบุตำแหน่งที่ตีบหรือตันของหลอดเลือดได้จากรูปแบบการไหลของเลือด
-
การตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวณคอ (Carotid Duplex Ultrasound) เป็นการตรวจหลอดเลือดแดงที่คอทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูหลอดเลือดใหญ่ Carotid (หลอดเลือดแดงด้านหน้า) และหลอดเลือด Vertebral (หลอดเลือดแดงด้านหลัง) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ดูคราบหินปูนหรือคราบไขมัน (Plaque) ที่เกาะภายในหลอดเลือด โดยสามารถวัดความหนาของผนังหลอดเลือด วัดความเร็วของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด
-
-
ลิ้งค์แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง
แพ็กเกจตรวจหลอดเลือดสมอง STOP STROKE
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการ ได้แก่
- การถ่างขยายหลอดเลือด แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่บริเวณขาแล้วถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนที่ทำหน้าที่เหมือนการขูดตะกรันในท่อน้ำ หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เหมือนตะแกรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น
- การผ่าตัด การผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimal Invasive โดยใส่สายสวนที่ขาหนีบเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน โดยมี Biplane DSA (Biplane Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้แพทย์ใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว
หากลิ่มเลือดมีขนาดเล็กสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพื่อละลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง หรือหากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดเลี้ยงสมองได้ทันเวลา นอกจากช่วยลดการใช้สารทึบรังสีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด
- การใช้ยา ประกอบไปด้วย
-
- ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ลดความหนืดของเลือดและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets) ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด
- ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ป้องกันการทำลายระบบประสาทที่เกิดหลังจากเลือดออกใต้กะโหลกศีรษะ (Subarachnoid Hemorrhage)
- ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบพลัน
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูงควรได้รับการรักษาควบคู่ไปกับโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาที่เหมาะสม
MAGIC NUMBER 4.5 เวลาทองของโรคหลอดเลือดสมอง
เวลาทองของโรคหลอดเลือดสมอง (Golden Time) หรือเมจิกนัมเบอร์ 4.5 (Magic Number 4.5) คือ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองควรถูกนำส่งโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมง หากผู้ป่วยได้รับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
- ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ เบื้องต้นแพทย์จะทำ MRI เอกซเรย์สนามแม่เหล็กตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมองและหลอดเลือดที่อุดตันว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมองจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน
- เกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยาละลายลิ่มเลือดอาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง แพทย์รังสีร่วมรักษาจะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะรักษาด้วยการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่
ดูแลผู้ป่วยหลังรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร
การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่อยู่ใน ICU หรือระยะเฉียบพลัน (Early Rehabilitation) จะช่วยให้การฟื้นตัวทางด้านสมองและกำลังกล้ามเนื้อเร็วขึ้น และยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนบนเตียงนาน ๆ เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางปอด โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น การฟื้นตัวที่ดีจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างคนไข้ ญาติหรือผู้ดูแล ทีมแพทย์ และทีม Stroke Coordinator เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกและเรียนรู้ทักษะบางอย่างใหม่ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
- กายภาพบำบัด (Physical Therapy) ฝึกกำลังแขนขา การทรงตัว การเคลื่อนไหว การเดิน
- กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อการใช้งานของแขนและมือ ฝึกกลืน ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ฝึกทำกิจวัตรประจำวัน
- อรรถบำบัด (Speech Therapy) ฝึกการพูด การหายใจ
- ฟื้นฟูกระบวนการรับรู้ ความคิด และความจำ (Cognitive Function)
- ฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าและปัญหาด้านสภาพจิตใจ (Depression and Psychosocial)
หลังจากการรักษา ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการดูแลที่แตกต่างกันตามคำแนะนำของแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการรักษาหลอดเลือดสมอง
นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาหลอดเลือดสมอง
โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก พร้อมค้นหาสาเหตุ ดูแลรักษา และป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยทีมแพทย์เฉพาะด้านสมอง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อลดความรุนแรงและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ดีขึ้น
มาตรฐานการรักษาระดับสากล JCI
โรงพยาบาลเพื่อสมองและกระดูก ได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาระดับสากล “การดูแลรักษาพยาบาลเฉพาะโรค” โรคหลอดเลือดสมอง (Primary Stroke Program) จากสถาบัน JCI (Joint Commission International) สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2551 – 2565 ด้วยมาตรฐานการรักษาและกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงของทีมแพทย์และพยาบาล ผสานเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยในการรักษาโรคเฉพาะทาง