ปัญหาการนอนไม่หลับ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่าภาวะอินซอมเนีย (Insomnia) ซึ่งเป็นปัญหาการนอนที่พบมากที่สุดในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยผู้สูงอายุ
ทั้งนี้เพราะการนอนหลับไม่ใช่การที่สมอง “หยุดทำงานชั่วคราว” อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่เป็นการทำงานของสมองในอีกลักษณะหนึ่งโดยอาศัยกลุ่มเซลล์ประสาทบางกลุ่มทำหน้าที่แทน ทำให้เกิดความรู้สึกง่วง อยากจะนอนหลับ และจัดระดับความลึกของการนอน รวมถึงทำให้เกิดการฝันอีกด้วย กลไกการนอนหลับจึงถูกควบคุมโดยตรงจากสมอง
ดังนั้นหากมีโรคหรือภาวะใด ๆ ที่มีผลต่อสมองก็ย่อมส่งผลถึงการนอนด้วย คำว่า “นอนไม่หลับ” จึงเป็นได้ทั้ง “อาการ” และ “โรค”
ถ้าอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้นจะเรียกว่า Primary insomnia3 หรืออาจเกิดขึ้นในคนปกติที่บังเอิญมีตัวกระตุ้นให้นอนไม่หลับ เช่น มีความกังวลที่จะต้องไปสอบสัมภาษณ์ในที่ทำงานใหม่ มีความเครียดเพราะไม่มีเงินไปใช้หนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถเกิดภาวะนี้ได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น อาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
จะเห็นได้ว่าภาวะนอนไม่หลับนั้นพบได้บ่อยมาก เพราะสามารถเกิดได้ทั้งในคนปกติและคนป่วย โชคดีที่ส่วนใหญ่อาการนอนไม่หลับมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว (Transient Insomnia)
โดยมีสาเหตุกระตุ้นที่แน่ชัดและสมเหตุสมผล และเมื่อกำจัดสิ่งกระตุ้นดังกล่าวก็สามารถนอนหลับได้ตามปกติ คนส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์
แต่หากอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือเกิดต่อเนื่องเป็นเวลานานเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้าเกิดในผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการต่อไป