หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
กระดูกพรุน เสี่ยงหลังค่อม หลังหัก จริงหรือไม่?

ทำไมกระดูกพรุนแล้วบางคนหลังค่อมหรือเตี้ยลง

โรคกระดูกพรุนไม่มีอาการ แต่ปัญหาใหญ่คือ ภาวะแทรกซ้อนหลักของโรคกระดูกพรุนคือ กระดูกหัก เมื่อเป็นโรคกระดูกพรุนไปสักระยะ ถ้าไม่ได้กินยาป้องกันกระดูกพรุน กระดูกจะหักได้ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังหักหลายระดับอาจทำให้หลังค่อม เพราะกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ที่หักจะยุบมาด้านหน้า พอยุบหลาย ๆ ระดับ หลังก็โค้งไปด้านหน้า ที่เรียกกันว่า หลังค่อม ส่วนใหญ่ถ้ากระดูกสันหลังหักระดับเดียวหลังอาจจะไม่ค่อม แต่ถ้าหักหลายระดับหลังจะเริ่มค่อมขึ้น ถ้าหลังค่อมเยอะจนไม่สามารถแหงนกลับขึ้นมาได้ แสดงว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งพบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป 


กระดูกพรุนเสี่ยงกระดูกหักรุนแรงแค่ไหน 

กระดูกพรุนมีความเสี่ยงกระดูกหักค่อนข้างมาก เพราะกระดูกหักเป็นโรคแทรกซ้อนสำคัญที่สุดของโรคกระดูกพรุน การรักษาโรคกระดูกพรุนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหัก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วปล่อยให้มวลกระดูกลดลงโดยไม่ดูแล กระดูกจะหักอย่างแน่นอนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลัง แม้ไม่มีอุบัติเหตุกระดูกสันหลังก็สามารถยุบได้โดยไม่รู้ตัว ไม่จำเป็นต้องล้ม อาจเกิดจากการทำงานบ้านหรืออุ้มหลาน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีอายุค่อนข้างมากและมีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยเฉพาะเวลานั่ง ยืน อาจเป็นสัญญาณเตือนกระดูกสันหลังยุบทีละนิดได้


กระดูกสันหลังหักมีกี่ชนิด

กระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. กระดูกหักที่เป็นกระดูกสันหลัง อาจไม่มีประวัติอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวดหลัง 
  2. กระดูกหักที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุหรือแรงกระแทก การล้มทำให้กระดูกหัก ปัญหาที่ตามมาคือ ภาวะที่กระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะอาจจะเดินไม่ได้ แม้จะเป็นการผ่าตัดดามกระดูกหรือเปลี่ยนข้อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่มีกระดูกสะโพกหักเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัดจะมีความเสี่ยงเสียชีวิต เพราะผู้สูงอายุที่กระดูกหักจะมีความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกายตามมา จากการที่นอนนาน ไม่ได้ออกกำลังกายนาน ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

รักษากระดูกสันหลังอย่างไร

ในกรณีที่กระดูกหักไม่หลายระดับและไม่มีการกดทับเส้นประสาท สามารถรักษาโดย

  • รับประทานยา
  • ใส่เสื้อรัดป้องกันกระดูกยุบ
  • การผ่าตัด (ในกรณีที่ผู้ป่วยปวดหลังเรื้อรังไม่หาย หรือกระดูกสันหลังไม่ติดกันต้องใช้เหล็กยึด)

ตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่มีอาการตราบใดที่กระดูกไม่หัก การตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญ ประกอบด้วย

  1. การประเมินปัจจัยเสี่ยง ยิ่งปัจจัยเสี่ยงมาก ยิ่งเสี่ยงกระดูกพรุน กระดูกหักได้มากกว่าคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
  2. การตรวจวัดมวลกระดูก ตรวจที่กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกเป็นหลัก เพราะสองตำแหน่งนี้พบ กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนบ่อยที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อวัดมวลกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกจึงบอกได้ว่า คุณเป็นโรคกระดูกพรุนและควรป้องกันโดยรับประทานแคลเซียม วิตามินดี ออกกำลังกาย และให้ยารักษาโรคกระดูกพรุน
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    • แยกชนิดโรคกระดูกพรุน การเจาะเลือดมีวัตถุประสงค์เพื่อตัดโรคที่ทำให้เป็นทุติยภูมิ โรคกระดูกพรุนออกจากการใช้ผลแล็บ 
    • ตรวจระดับวิตามินดีในเลือด สามารถใช้ผลแล็บจากการตรวจเลือดดูระดับวิตามินดีได้ ซึ่งมีความสำคัญและควรเช็กเป็นประจำทุกวัน ถ้าไม่พอให้เพิ่ม ถ้าพอแล้วให้ลดลง
    • ตรวจอัตราการสร้างและสลายกระดูก ร่างกายคนเรามีการสร้างและสลายกระดูกหมุนเวียนตลอดชีวิต สามารถวัดได้ว่าอัตราการสลายกระดูกมีแค่ไหน อัตราการสร้างกระดูกใหม่มีแค่ไหน เป็นส่วนประกอบสำคัญในการดูแลรักษาคนไข้โรคกระดูกพรุนให้ดีขึ้น

การป้องกันกระดูกพรุน

  1. การป้องกันกระดูกพรุนแบบปฐมภูมิ 
    • รับประทานแคลเซียมและวิตามินดี
    • หมั่นออกกำลังกาย
    • ในกรณีที่กระดูกหักแล้วจะมีการใช้ยายับยั้งการสลายมวลกระดูกหรือกระตุ้นการสร้างมวลกระดูก โดยจะพิจารณาเป็นกรณีไป
  2. การป้องกันกระดูกพรุนแบบทุติยภูมิ 
    • กระดูกพรุนที่มีสาเหตุจากการใช้ยาหรือโรคประจำตัวบางชนิดต้องรักษาต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนทำให้มวลกระดูกสามารถเพิ่มกลับมาได้ถ้าโรคหรือยาสามารถหยุดได้ก็หายได้แต่ถ้ายานั้นไม่สามารถหยุดได้จำเป็นต้องรักษาโรคประจำตัวควบคู่ไปกับยารักษาโรคกระดูกพรุน