หน้าหลัก
/ บทความสุขภาพ / โรคและการรักษา /
ท่าบริหารคอให้แข็งแรงป้องกันโรคกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย

“โรคกระดูกคอเสื่อม” เวลาหันศีรษะแล้วมีเสียงดังกร๊อบบริเวณคอ หรือมีอาการปวดคอ คอเกร็ง โดยจะปวดมากยิ่งขึ้น เมื่อขยับคอเคลื่อนไหวไปมา อาการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณอันตรายบ่งบอกถึงการมาเยือนของโรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อม ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามวัยและสังขาร ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานวันยิ่งยากจะรักษาเยียวยา ทางที่ดีที่สุดควรป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ

โรคกระดูกคอเสื่อม

โรคกระดูกคอเสื่อมตามหลักการแพทย์แล้ว โดยปกติทั่วไปกระดูกสันหลังคอจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่า 600 ครั้ง ในแต่ละชั่วโมง นอกจากนี้ยังจะต้องรับแรงกด แรงบิด และแรงตึงเครียด อันเนื่องมาจากมูฟเมนต์การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดโรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อม นอกจากจะเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุแล้ว บางรายยังเริ่มแสดงอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 35 – 40 ปี โดยความสามารถในการเคลื่อนตัวของข้อจะเริ่มเสียไปทีละน้อย ทำให้เกิดอาการฝืดเคืองเวลาขยับตัวเหลียวคอไปมองด้านหลัง ขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะเกิดอาการติดขัดเมื่อต้องการเหลียวคอเกิน 90 องศา โดยอาจมีอาการปวดคอแทรกซ้อนได้ เมื่อฝืนให้ข้อทำงานเกินกำลัง ผลจากการแก่ตัวของข้อกระดูกคอ ยังก่อให้เกิดกระดูกงอกในด้านขอบของข้อ ซึ่งถ้างอกเกินขนาด อาจทำให้มีอาการปวดลามลงแขน มือ และนิ้วได้ ในรายที่มีกระดูกงอกมาก อาจจะมีอาการชาที่นิ้วมือหรือแขน และทำให้แขนและมืออ่อนแรง


รักษากระดูกคอเสื่อม

สำหรับแนวทางในการรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังคอเสื่อมมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การทำกายภาพบริหาร การนวดบรรเทาอาการเจ็บปวด และการใช้เครื่องมือช่วยเพื่อผ่อนแรงกล้ามเนื้อคอ ในรายที่มีอาการรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดยาลดอาการอักเสบที่คอ ยิ่งถ้ามีอาการเจ็บ ชา หรืออ่อนแรงลงที่แขน ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบตรวจรักษาอย่างละเอียดด้วยเครื่อง MRI Scan เพื่อวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แต่ถ้ามีอาการแขนชาหรืออ่อนแรงมาก อาจต้องคิดถึงการผ่าตัด เพื่อรักษาการทำงานของเส้นประสาทที่ถูกกดโดยกระดูกงอก


ป้องกันกระดูกคอเสื่อม

อย่างไรก็ดีหนทางที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงโรคกระดูกคอเสื่อม คือ การป้องกันตั้งแต่ยังไม่ถูกคุกคาม โดยหมั่นบริหารร่างกายให้มีคอที่แข็งแรง เพื่อลดความตึงตัวของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณคอ ด้วยการหมุนศีรษะตามเข็มนาฬิกา 3 ครั้ง และในทางตรงข้ามอีก 3 ครั้ง ทิ้งน้ำหนักของศีรษะลงเต็มที่ในการหมุนแต่ละครั้ง จากนั้นก้มศีรษะไปข้างหน้าโดยให้ไหล่อยู่กับที่แล้วเอียงคอไปมาทางด้านข้างและหงายไปข้างหลังให้มากที่สุด ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วจึงตั้งคอตรง หันศีรษะช้า ๆไปด้านขวาและซ้าย 10 ครั้ง โดยทำซ้ำให้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันควบคู่ไปด้วย ได้แก่

  • ไม่ควรนั่งอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ
  • ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป
  • ไม่ควรนอนฟูกนิ่มเกินไป
  • ความสูงของหมอนควรพอเหมาะกับคอ เพื่อลดการทำงานของคอ อาจใช้หมอนใบเล็ก ๆ รองใต้คอ
  • ไม่ควรนอนตากแอร์หรือตากพัดลมตรง ๆ
  • ไม่ว่าในท่าเดินหรือท่ายืน ศีรษะก็ควรจะตั้งตรง ไม่ก้มหรือเงยศีรษะ
  • ไม่ควรโน้มศีรษะลงขณะอ่านหนังสือ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนักกว่าปกติ ควรยกหนังสือให้ตั้งขึ้นในระดับสายตา โดยอาจวางตั้งบนกองหนังสือ หรือกล่องก็ได้
  • เวลาขับรถควรเคลื่อนลำตัวให้ใกล้พวงมาลัย ไม่ห่างจนเกินไป
  • วิธีช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอในแต่ละวัน ควรใช้ผ้าชุบน้ำร้อนประคบบริเวณคอเป็นประจำ

สอบถามเพิ่มเติม
โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719
Email: [email protected]