หน้าหลัก
/ เทคโนโลยีของเรา /
ARTIS pheno หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยผ่าตัดโรคกระดูกและข้อแบบแผลเล็ก

ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาการบาดเจ็บของกระดูกและข้อได้มีพัฒนาการจากวิธีการผ่าตัดแบบแผลเปิด (Conventional Open Surgery) ที่มีขนาดแผลค่อนข้างใหญ่ ประกอบกับมีการตัดเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อค่อนข้างมาก เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (MIS: Minimally Invasive Surgery) โดยเป้าหมายหลักของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก คือ การป้องกันการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงกับกระดูกที่หักให้ได้รับความเสียหายจากการผ่าตัดให้น้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นการรักษาระบบไหลเวียนเลือดของกระดูกที่หักให้ยังคงอยู่ เป็นการส่งเสริมให้การสมานตัวของกระดูกที่หักเป็นไปอย่างปกติ

 

ผ่าตัดกระดูกและข้อแบบแผลเล็ก

การผ่าตัดกระดูกและข้อแบบแผลเล็ก คือ การผ่าตัดโดยการใช้เครื่องมือผ่าตัดสอดผ่านแผล ลักษณะคล้ายรูเปิดที่ผิวหนังขนาดเล็ก โดยมีการกระทบกระเทือนต่อเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงน้อย จากนั้นจัดกระดูกให้เข้าที่และยึดตรึงด้วยแผ่นเหล็กผ่านแผลดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเปิด พบว่าการผ่าตัดแบบแผลเล็กนี้ผู้ป่วยจะปวดแผลน้อยกว่า เกิดแผลเป็นจากการผ่าตัดน้อยกว่า การเสียเลือดขณะผ่าตัดน้อยกว่า ลดระยะเวลาการนอนรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการสมานของกระดูกจากการที่ระบบไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกไม่ถูกทำลาย ทำให้กระดูกที่หักกลับมาติดและหายเป็นปกติในระยะเวลาที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ทำให้ศัลยแพทย์ไม่สามารถมองเห็นกระดูกในบริเวณที่ผ่าตัดได้ทั้งหมดจึงต้องมีการใช้เครื่องมือทางรังสีในขณะผ่าตัดร่วมด้วยเพื่อเป็นการตรวจสอบการจัดกระดูกเข้าที่และตรวจสอบตำแหน่งของแผ่นเหล็กที่ใช้ยึดตรึงกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เครื่องเอกซเรย์แบบ C – Arm ที่ใช้ระหว่างการผ่าตัดจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อใช้ในการยืนยันและตรวจสอบ ในขณะผ่าตัดยึดตรึงกระดูกที่หัก ทำให้ศัลยแพทย์สามารถเห็นได้ชัดเจนในขณะผ่าตัดว่าได้ยึดตรึงกระดูกที่หักเข้าที่เป็นอย่างดีหรือไม่ ทำให้การผ่าตัดกระดูกที่เคลื่อนหรือแตกหักกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นเครื่องเอกซเรย์ในห้องผ่าตัดที่ให้ภาพที่ละเอียด คมชัด คุณภาพสูงจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักนั้นมีความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นต่อคนไข้


 

ARTIS pheno หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล

ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ระหว่างการผ่าตัดนี้ เครื่อง ARTIS pheno คือ เทคโนโลยีหุ่นยนต์เอกซเรย์ที่ใช้รังสี Fluoroscope ทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติที่สามารถแสดงภาพโครงสร้างกระดูกและข้อที่มีความละเอียดสูง คล้ายภาพที่ได้จากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ระหว่างการผ่าตัดภาพที่ได้เป็นภาพที่ปรากฏทันทีในขณะสแกน (Real – Time Imaging) จึงทำให้ศัลยแพทย์สามารถตัดสินใจวางแผนการรักษาได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ การแสดงภาพในลักษณะ 3 มิติ หรือภาพคล้ายกับที่ได้จากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นี้จะช่วยให้เห็นโครงสร้างกระดูกได้อย่างชัดเจน ช่วยประเมินความถูกต้องในการผ่าตัดและตรวจสอบตำแหน่งของแผ่นเหล็กหรืออุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกได้เป็นอย่างดี

เทคโนโลยีดังกล่าวนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการรักษาภาวะกระดูกหักใกล้ข้อ ซึ่งคุณภาพของภาพที่ได้จากภาพแบบ 2 มิติอาจจะไม่ละเอียดเพียงพอที่จะประเมินการจัดเรียงผิวข้อที่หักว่าเข้าที่ดีหรือไม่ รวมถึงการระบุตำแหน่งของการวางสกรู อาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจนนักจากภาพแบบ 2 มิติ สำหรับภาพที่ได้แบบ 3 มิติ หรือภาพคล้ายภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นี้สามารถช่วยให้ศัลยแพทย์ประเมินการยึดตรึงกระดูกหักในระหว่างผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดแบบแผลเล็กและการผ่าตัดกระดูกหักใกล้ข้อได้อย่างชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และลดโอกาสที่คนไข้จะต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซ้ำ

ด้วยการทำงานของเตียงที่สามารถควบคุมทิศทางได้ ทำให้ศัลยแพทย์สามารถปรับทิศทางการเคลื่อนที่ของเตียงและคนไข้ได้ด้วยตัวเอง จากความสะดวกและถูกต้องนี้ ช่วยลดระยะเวลาการปรับตำแหน่งคนไข้ซ้ำไปมาในขณะผ่าตัด นอกเหนือจากนี้เครื่อง ARTIS pheno มีโปรแกรมความจำที่ปรับเข้ากับเตียง เพื่อช่วยให้แขนกล C – Arm สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้อัตโนมัติ ด้วยการทำงานเช่นนี้ ช่วยลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการปรับเตียงและแขนกล รวมถึงลดโอกาสการรับรังสีในขณะผ่าตัดของคนไข้และทีมศัลยแพทย์จากการลองปรับตำแหน่งซ้ำ ๆ ไปมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีกระดูกหักจากอุบัติเหตุ เนื่องจากการที่ศัลยแพทย์ต้องการดูภาพของตำแหน่งกระดูกที่หักต้องใช้หลาย ๆ ภาพ ในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป

นอกเหนือจากการผ่าตัดกระดูกและข้อแล้ว  เครื่อง ARTIS pheno ยังสามารถใช้ในการผ่าตัดอื่น ๆ ได้หลายสาขา เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบสมองและประสาท รวมถึงการทำงานด้านรังสีวินิจฉัยอื่น ๆ เช่น DSA สำหรับภาพหลอดเลือด และการรองรับภาพจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเครื่องเอกซเรย์ด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า


ห้องผ่าตัด Hybrid Operating Room

ห้องผ่าตัด “Hybrid Operating Room” เป็นห้องผ่าตัดทันสมัยที่รวมเอาเทคโนโลยีขั้นสูงของระบบเอกซเรย์ในห้องผ่าตัด ระบบนำวิถีขณะผ่าตัด เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเครื่องเอกซเรย์ด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เข้าไว้ในห้องเดียวกัน ซึ่งรองรับการใช้งานผ่าตัดสำหรับแพทย์ผู้ชำนาญในหลากหลายสาขาภายในห้องผ่าตัดเดียว

ห้องผ่าตัด Hybrid Operating Room ที่โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เราพร้อมบริการด้วยศัลยแพทย์ผู้มีความชำนาญและเครื่อง ARTIS pheno พร้อมระบบนำวิถีระหว่างการผ่าตัด การทำงานร่วมกันระหว่างภาพ 3 มิติและระบบนำวิถีนี้ช่วยให้การผ่าตัดกระดูกและข้อแบบแผลเล็กและการยึดตรึงกระดูกทำได้อย่างถูกต้องชัดเจน อีกทั้งยังลดระยะเวลาการผ่าตัด ลดอัตราการเสียเลือดในห้องผ่าตัดและลดการรับรังสีในขณะผ่าตัด นอกจากนี้ห้องผ่าตัดนี้ยังสามารถใช้ในการผ่าตัดโรคกระดูกสันหลัง  โรคหัวใจและหลอดเลือด และการผ่าตัดด้วยหัตถการทางรังสีร่วมรักษา (Intervention) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คนไข้ประสบอุบัติเหตุหลายอวัยวะ นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องในการผ่าตัดแล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดและลดโอกาสที่คนไข้จะต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขซ้ำได้เป็นอย่างดี