สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินได้เพราะระบบประสาทสั่งการผิดปกติหรือผู้ป่วยหลังการผ่าตัด WALKBOT เป็นหุ่นยนต์ฝึกเดินบนลู่วิ่งออกกำลังกายที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผู้ป่วยทางด้านระบบประสาทและผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการเดินสามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้น สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ป่วยในแง่ของความเร็วในการเดิน ความทนทานในการเดิน การพัฒนาคุณภาพของการเดิน (Gait Quality) รวมถึง ระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเหมาะในการฟื้นฟูผู้ป่วยร่วมกับการรักษาแบบดั้งเดิมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น
Walkbot คืออะไร
Walkbot หรือ Robotic Assisted Gait Training เป็น Treadmill – Based Robotic คือการฝึกเดินบนลู่ร่วมกับการมีระบบพยุงตัวขณะฝึกเดิน (Body Weight Support) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินได้จากระบบประสาทสั่งการ ระบบกล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่ผิดปกติกลับมาเดินได้อีกครั้ง โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะใส่หุ่นยนต์จะต้องบันทึกข้อมูลทางกายภาพเข้าระบบสั่งการ เพื่อปรับความยาวขาหุ่นยนต์ตามสรีระผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องสวมชุดสำหรับพยุงตัว (Harness) ทุกครั้ง ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยพยุงน้ำหนักตัวของผู้ป่วยขณะเดิน โดยหุ่นยนต์จะหยุดทำงานทันทีเมื่อเกิดแรงดึงการชักกระตุกและแรงต้านเกินรับได้ หากเกิดความผิดปกติผู้ป่วยหรือนักกายภาพกดปุ่มหยุดฉุกเฉินได้ทันที
ผู้ที่เหมาะกับการใช้ Walkbot
ผู้ที่เหมาะกับการใช้หุ่นยนต์ฝึกเดิน ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
- ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (spinal cord injury)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือ MS (multiple sclerosis)
- โรคสมองพิการ (cerebral palsy)
นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ที่มีภาวะบาดเจ็บสมองใส่ข้อเทียมโลหะทดแทนกล้ามเนื้ออ่อนแรงข้อเสื่อมหรือผ่าตัดข้อเป็นต้นทั้งนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินโดยโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูก่อนรับบริการ
เตรียมตัวอย่างไรก่อนใช้ Walkbot
การรักษาด้วยหุ่นยนต์ฝึกเดินแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณครั้งละ 30 – 45 นาทีขึ้นกับระดับความสามารถของผู้ป่วย แนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมตัวดังนี้
- ใส่เสื้อผ้ารัดกุม สามารถเคลื่อนไหวสะดวก ไม่หลวมหรือกระชับเกินไป
- อุปกรณ์ที่สวมใส่ในการรักษา ได้แก่ รองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ ถุงเท้ายาว กางเกงขายาว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรทำการรักษาด้วยหุ่นยนต์ฝึกเดินหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที
- ระหว่างการฝึกเดินห้ามรับประทานอาหาร
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยมาก คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น เจ็บหน้าอก ฯลฯ แจ้งนักกายภาพบำบัดทันที
ข้อจำกัดในการรักษาด้วย Walkbot
ผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วย Walkbot ได้แก่ ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพิ่งผ่านการรักษาการหดตัวกล้ามเนื้อ กระดูกไม่แข็งแรง มีแผลที่บริเวณสะโพกและขาที่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ ระบบไหลเวียนเลือดมีปัญหา หัวใจเต้นผิดปกติ มีการให้สารทางหลอดเลือดเป็นเวลานาน มีความผิดปกติในการรับรู้ขั้นรุนแรง ไม่ร่วมมือหรือต่อต้าน กระดูกหรือไขกระดูกเติบโตผิดปกติ มีปัญหาด้านหลอดเลือดช่วงล่างรุนแรง และผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้จากโรคเป็นหนองที่กระดูก แผลไฟไหม้หรือติดเชื้อ ผ่าตัดสะโพก เข่า ข้อเท้า
ข้อควรระวังในการใช้ Walkbot
ผลข้างเคียงจากการรักษาที่อาจพบ ได้แก่ แผลถลอก รอยแดง รอยช้ำบริเวณที่สวมเครื่องช่วยพยุง เป็นต้น
โรงพยาบาลที่พร้อมให้การรักษาด้วย Walkbot
โรงพยาบาลเพื่อกระดูกและสมอง พร้อมให้การดูแลรักษาด้วยเทคโนโลยี WalkBot หุ่นยนต์ฝึกเดินช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อและกระตุ้นระบบประสาท เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วยิ่งขึ้น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และทีมสหสาขาวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด