ในช่วงนี้ทุกคนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับ COVID-19 เพราะเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบ เหนื่อย และอาจมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ เชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจยังสามารถติดเชื้อในระบบอื่น ๆ ได้ ทำให้บางส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีอาการแสดงในระบบอื่น ๆ ที่อาจพบได้ไม่บ่อย โดยหนึ่งในกลุ่มอาการเหล่านั้นคือ อาการทางระบบประสาท
COVID-19 กับระบบประสาท
มีงานวิจัยที่ทำในนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36% ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System) โดยคาดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทได้โดยตรงและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้เกิดการอักเสบขึ้น แล้วทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา
จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า อาการทางระบบประสาทในผู้ป่วย COVID-19 มีได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การรับรสหรือรับกลิ่นลดลง อาการปวดเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ จนถึงอาการรุนแรง เช่น การรับรู้สติสัมปชัญญะที่ลดลง อาการชัก หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain Barre Syndrome) และโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดในผู้ป่วยอายุน้อย (Acute ischemic stroke in young adults)
COVID-19 กับโรคทางระบบประสาท
สำหรับคนที่มีโรคทางระบบประสาทอยู่เดิม เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ หรือ โรคพาร์กินสัน จากการสืบค้นฐานข้อมูลและงานวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนว่า ยารักษาโรคทางระบบประสาทดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวบางส่วนมีอายุที่ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในคนสูงอายุนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ง่ายกว่าคนอายุน้อย รวมทั้งอาการและอาการแสดงจะรุนแรงกว่าด้วย จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำทางระบบประสาทดังกล่าวควรรับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และมีการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้องร่วมด้วย
ในโรคทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมายแอสทีเนียกราวิส (Myasthenia Gravis), โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP) ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันในการควบคุมโรค ซึ่งจากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน พบว่ายากลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ทานยาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนการปรึกษาแพทย์ที่จ่ายยา ในกลุ่มคนไข้โรคหลอดเลือดสมองหรือสมองเสื่อม การดูแลผู้ป่วยไม่ได้ต่างกับคนทั่วไป เพียงแต่ว่าต้องเฝ้าระวังเรื่องคนที่คอยดูแลใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ส่วนมากมักจะมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หรืออาจมีนักกายภาพบำบัดมาฝึกกายภาพให้ผู้ป่วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อต่อคนไข้ได้ จึงแนะนำว่าหากคนดังกล่าวมาดูแลคนไข้ที่บ้าน ต้องให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือสม่ำเสมอ ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องออกไปข้างนอกสามารถทำได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการและการปฏิบัติตัวเหมือนคนปกติทั่วไป คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เอามือขยี้ตาหรือสัมผัสใบหน้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส
การติดเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้หลากหลายแบบ ซึ่งอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นหากมีอาการหรือข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทเพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว บางครั้งอาการที่เป็นอาจเป็นจากสาเหตุอื่น ไม่ได้เป็นจากเชื้อไวรัส COVID-19 เสมอไป
ข้อมูล : นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพฤติกรรมประสาทวิทยาและโรคสมองเสื่อม
Ref.
-
Coronavirus disease 2019 (COVID-2019). U.S. Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/index.html
-
Zhu J, Ji P, Pang J, et al. Clinical characteristics of COVID-19: a meta-analysis. J Med Virol 2020
-
Zhou F, Yu T, Du R, et al. Clinical course and risk factors for mortality of adult inpatients with COVID-19 in Wuhan, China: a retrospective cohort study. Lancet 2020
-
Madjid M, Safavi-Naeini P, Solomon SD, et al. Potential Effects of Coronaviruses on the Cardiovascular system: A Review. Lancet Cardiol 2020
-
Mao L, Jin H, Wang M, et al. Neurologic manifestations of hospitalized patients with coronavirus disease 2019 in Wuhan, China. JAMA Neurol 2020
-
Xu Z, Shi L, Wang Y, et al. Pathological findings of COVID-19 associated with acute respiratory distress syndrome. Lancet Respir Med 2020
-
Li YC, Bai WZ, Hashikawa T. The neuroinvasive potential of SARS-CoV2 may play a role in the respiratory failure of COVID-19 patients. J Med Virol 2020
-
Helms J, Kremer S, Merdji H, et al. Neurologic Features in Severe SARS-CoV-2 Infection. NEJM 2020
-
Xiang P, Xu XM, Gao LL, et al. First Case of 2019 Novel Coronavirus Disease with encephalitis. ChinaXiv 2020
-
Ye M, Ren Y, Lv T. Encephalitis as a clinical manifestation of COVID-19. Brain Behav Immun 2020
-
Moriguchi T, Harii N, Goto J, et al. A first case of meningitis/encephalitis associated with SARS-Coronavirus-2. Int J Infect Dis 2020
-
Poyiadji N, Shahin G, Noujaim D, et al. COVID-1-associated Acute Hemorrhagic Necrotizing Encephalopathy: CT and MRI features. Radiology 2020
-
Zhao H, Shen D, Zhou H, et al. Guillain-Barre syndrome associated with SARS-CoV-2 infection: causality or coincidence? Lancet Neurol 2020
-
Oxley TJ, Mocco J, Majidi S, et al. Large-Vessel Stroke as a Presenting Feature of Covid-19 in the Young. NEJM 2020
-
Onder G, Rezza G, Brusaferro S. Case-Fatality rate and characteristics of patients dying in relation to COVID-19 in Italy. JAMA 2020
-
Manji H, Carr AS, Brownlee WJ, et al. Neurology in the time of COVID-19. J Neurol Neurosurg Psychiatry 2020